บล็อกเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคและใช้ทางการเกษตรครับ

สุนันทโจ

29.7.53

มหาพิกัต

บัดนี้จะกล่าวด้วยมหาพิกัตต่อไป




อธิบายว่ากายแห่งบุคคลทั้งหลายนี้ เปนที่ตั้งแห่งกองสมุฏฐาน สมุฏฐานเปนที่ตั้งแห่งกองธาตุ ธาตุเปนที่ตั้งแห่งกองโรค โรคเปนที่ตั้งแห่งอาหารดังนี้ ถ้าจะแก้ให้แก้ในกองสมุฏฐานเปนอาทิ ด้วยอรรถว่าสมุฏฐานนี้เปนรากแก้วแห่งโรคทั้งหลาย ท่านจึงแยกเบญจกูลนั้นออกแล ๓ แล ๓ เอา พริกไทยแซกเข้า ๑ เปน ๖ เหตุว่าพริกไทยนั้นแก้ในกองลม สรรพคุณสิ่งอื่นที่จะแก้ลมยิ่งกว่านั้นหามิได้ พระอาจารย์เจ้าจึงประกอบเข้าไว้ในเบญจกูล จึงได้นามบัญญัติดังนี้



๑ คือพริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ นี้ คือ ตรีกฏุกในพิกัต วสันตฤดู



๒ อนึ่งคือเจตมูลเพลิง ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ทั้ง ๓ นี้ คือตรีสารในพิกัตเหมันตฤดู



๓ อนึ่งคือสมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ ทั้ง ๓ นี้ คือตรีผลาในพิกัตคิมหันตฤดู อันนี้ท่านสงเคราะห์ แก้ในกองสมุฏฐานโรคฤดูทั้ง ๓ ดังนี้



๑ อนึ่งคือสมอพิเภก ๑ ขิงแห้ง ๑ เจตมูลเพลิง ๑ ทั้ง ๓ นี้แก้ในกองปิตตะสมุฏฐานพิกัต



๒ อนึ่งคือสมอไทย ๑ พริกไทย ๑ สะค้าน ๑ ทั้ง ๓ สี้แก้ในกองวาตะสมุฏฐานพิกัต



๓ อนึ่งคือมะขามป้อม ๑ ช้าพลู ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ นี้ แก้ในกองเสมหะสมุฏฐานพิกัต ให้ประกอบตามส่วน โดยนัยจะมีไปข้างหน้านั้น



อนึ่งท่านจึงจัดสรรพยาในกองสมุฏฐานกล่าวคือ ตรีผลา ตรีกฏุก ตรีสารทั้ง ๓ นี้ มาระคนกันเข้าไว้จะให้แจ้งในพิกัต



คือบทว่าเบญจกูลนั้น คือขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ เจตมูลเพลิง ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ อันนี้ชื่อว่าเบญจกูล แก้ในกองธาตุ แก้ในกองฤดูสมุฏฐาน ด้วยอรรถว่าสมุฏฐานธาตุ ฤดูเนื่องถึงกันที่จะได้ขาดจากกันนั้นหามิได้ เปนที่อาไศยซึ่งกันแลกัน จึงให้ประกอบเบญจกูลขึ้นตามพิกัต กำเริบ , หย่อน , แลพิการ นั้น แก้ดังนี้จึงจะควร



๑ ถ้าเตโชธาตุกำเริบ เอาสะค้าน ๑ ดีปลี ๒ ช้าพลู ๓ ขิงแห้ง๔ เจตมูล ๘ สมอพิเภก ๑๖ ประจำ สมุฏฐานอัคนีกำเริบ



๒ อนึ่งถ้าเตโชหย่อน เอาดีปลี ๑ ช้าพลู ๒ สะค้าน ๓ สมอพิเภก ๔ ขิงแห้ง ๘ เจตมูล ๑๖ ประจำสมุฏฐานอัคนีหย่อน



๓ ถ้าเตโชพิการ เอาช้าพลู ๑ สะค้าน ๒ ดีปลี ๓ เจตมูล ๔ สมอพิเภก ๘ ขิงแห้ง ๑๖ ประจำสมุฏฐานอัคนพิการ



๔ ถ้าวาโยกำเริบ เอาช้าพลู ๑ เจตมูล ๒ ดีปลี ๓ พริกไทย ๔ สะค้าน ๘ สมอไทย ๑๖ ขิงแห้ง ระคนประจำวาตะ สมุฏฐานกำเริบ



๕ ถ้าวาโยหย่อน เอาเจตมูล ๑ ดีปลี ๒ ช้าพลู ๓ สมอไทย ๔ พริกไทย ๘ สะค้าน ๑๖ ขิงแห้งระคนประจำวาตะสมุฏฐานหย่อน



๖ อนึ่งถ้าวาโยพิการ เอาดีปลี ๑ ช้าพลู ๒ เจตมูล ๓ สะค้าน ๔ สมอไทย ๘ พริกไทย ๑๖ ขิงแห้ง ระคนประจำวาตะสมุฏฐานพิการ



๗ ถ้าอาโปสมุฏฐานกำเริบ เอาขิงแห้ง ๑ สะค้าน ๒ เจตมูล ๓ ดีปลี ๔ ช้าพลู ๘ มะขามป้อม ๑๖ พริกไทย ระคนประจำอาโปสมุฏฐานกำเริบ



๘ ถ้าอาโปหย่อน เอาสะค้าน ๑ เจตมูลเพลิง ๒ ขิงแห้ง ๓ มะขามป้อม ๔ ดีปลี ๘ ช้าพลู ๑๖ พริกไทยระคนประจำอาโปสมุฏฐานหย่อน



๙ อนึ่งถ้าอาโปพิการ เอาเจตมูล ๑ ขิงแห้ง ๒ สะค้าน ๓ ช้าพลู ๔ มะขามป้อม ๘ ดีปลี ๑๖ พริกไทย ระคนประจำอาโปสมุฏฐานพิการ



๑๐ ถ้าปถวีธาตุกำเริบ เอาพริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๒ เจตมูล ๓ สะค้าน ๔ ดีปลี ๘ ช้าพลู ๑๖ ตรีผลาระคน ประจำปถวีสมุฏฐานกำเริบ



๑๑ อนึ่งถ้าปถวีธาตุหย่อน เอาขิงแห้ง ๑ เจตมูล ๒ พริกไทย ๓ ช้าพลู ๔ สะค้าน ๘ ดีปลี ๑๖ ตรีผลาระคนประจำปถวีสมุฏฐานหย่อน



๑๒ ถ้าปถวีพิการ เอาเจตมูล ๑ พริกไทย ๒ ขิงแห้ง ๓ ดีปลี ๔ ช้าพลู ๘ สะค้าน ๑๖ ตรีผลาระคนประจำปถวีสมุฏฐานพิการ



อันว่ากองปถวีธาตุสมุฏฐานนี้ สงเคราะห์มาแต่มหาภูตะรูป ซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์อันปรารพภ์ธาตุบรรจบ ว่าด้วยสุริยพิกัตราศี เปนฤดูเดือนต่อกันจัดเปน ๔ ฤดู ฤดูหนึ่ง ๓ เดือน โดยลำดับธาตุทั้ง ๔ นั้น มาสาธกไว้ ในที่นี้จะให้แพทย์พึงรู้ในกองสมุฏฐานโดยง่าย ด้วยในที่นี้ท่านแจ้งไว้ใน มหาพิกัตสมุฏฐานแล ๓ ๆ คือ เตโช, วาโย, อาโป, สมุฏฐาน แต่ปถวีสมุฏฐานนี้จัดเปนชาติจะละนะ จะได้มีในมหาพิกัตนี้หามิได้ ให้แพทย์พึงรู้โดยไนยดังนี้



ถ้าจะทำเปนอภิญญาณเบญจกูล เอาเจตมูลทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๔ สะค้านทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๖ ขิงแห้งทั้งใบทั้งดอกทั้งเหง้าสิ่งละ ๑๐ ช้าพลูทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๑๒ ดีปลีทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๒๐ อันนี้แก้ในกองธาตุอภิญญาณ



ถ้าจะทำเปนเทศเบญจกูล เอาขิงแห้ง ๑ เจตมูล ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ดีปลี ๑ สิ่งละ ๑๐ ส่วน พิกัตอันนี้ประจำธาตุเนาวทวารอันมีอยู่ในพระคัมภีร์ปรารพภ์ธาตุบรรจบ ท่านสงเคราะห์เอาทวารสตรี ๑ มาประสมเข้าเปน ๑๐ จึงได้ชื่อว่าทศเบญจกูล



ถ้าจะทำมหาพิกัตเบญจกูล เอาเจตมูล ๔ สะค้าน ๖ ขิงแห้ง ๑๐ ช้าพลู ๑๒ ดีปลี ๒๐ อันนี้พิกัตไว้ตามกำลังธาตุแก้เปนสาธารณะทั่วไปในกองธาตุสมุฏฐานทั้งปวงมิได้เว้น จึงได้เรียกว่าพิกัตเบญจกูล ดังนี้



๑ ถ้าจะทำเปนโสฬศเบญจกูล เอาขิงแห้ง ๒ เจตมูล ๔ สะค้าน ๖ ช้าพลู ๘ ดีปลี ๑๖



๒ อนึ่งเอาเจตมูล ๒ สะค้าน ๔ ช้าพลู ๖ ดีปลี ๘ ขิงแห้ง ๑๖



๓ อนึ่งเอาสะค้าน ๒ ช้าพลู ๔ ดีปลี ๖ ขิงแห้ง ๘ เจตมูล ๑๖



๔ อนึ่งช้าพลู ๒ ดีปลี ๔ ขิงแห้ง ๖ เจตมูล ๘ สะค้าน ๑๖



๕ อนึ่งดีปลี ๒ ขิงแห้ง ๔ เจตมูล ๖ สะค้าน ๘ ช้าพลู ๑๖ ทั้ง ๕ ฐานนี้ได้ชื่อว่าโสฬศเบญจกูล ด้วยอรรถว่าบวกกันเข้าละสิ่งๆได้สิ่งละ ๓๖ ส่วน โดยนัยส่วนพิกัตแก้ในกองวาโยสมุฏฐาน ด้วยเหตุว่าท่านสงเคราะห์เอาสิ่งละ ๓๖ ส่วน สรรพยานั้นขึ้นตามในพิกัตซึ่งอายุคือ ๑๖ นั้น เปนอาทิ คือ ๓๖ เปนที่สุด ดุจกล่าวแล้วแต่หลังให้แพทย์พึงกระทำโดยนัยสิ่งละ ๓๖ ส่วน ทั้ง ๕ ฐานนั้นหามิได้ ให้พิจารณาดูว่าโรคนั้นจะตกเข้าอยู่ในระหว่างธาตุสมุฏฐาน ฤดูสมุฏฐาน อายุสมุฏฐานอันใด แลจะแก้ด้วยโสฬศเบญจกูลนั้นด้วย ๑๖ อันใดก็ให้พึงกระทำขึ้นตามในโสฬศอันนั้น โดยส่วนท่านพิกัตไว้จึงจะควร



๑ อนึ่งถ้าจะทำเปนทศเบญจขันธ์ เอาขิงแห้ง ๑ ช้าพลู ๒ สะค้าน ๓ เจตมูล ๔ ดีปลี ๕



๒ อนึ่งเอาช้าพลู ๑ สะค้าน ๒ เจตมูล ๓ ดีปลี ๔ ขิงแห้ง ๕



๓ อนึ่งเอาสะค้าน ๑ เจตมูล ๒ ดีปลี ๓ ขิงแห้ง ๔ ช้าพลู ๕



๔ อนึ่งเอาเจตมูล ๑ ดีปลี ๒ ขิงแห้ง ๓ ช้าพลู ๔ สะค้าน ๕



๕ อนึ่งเอา ดีปลี ๑ ขิงแห้ง ๒ ช้าพลู ๓ สะค้าน ๔ เจตมูล ๕ ทั้ง ๕ ถานนี้ได้ชื่อว่าทัศเบ็ญจขันธ์ ด้วยอรรถว่าบวกกันเข้าแต่ละสิ่งๆ ได้สิ่งละ ๑๕ ส่วนโดยพิกัตแก้ในกองอสุรินทัญญาณธาตุ จตุสมาสรรพ ตามในพิกัตท่านกล่าวไว้ดังนี้



ลำดับนี้จะได้แสดงในมหาพิกัต ตรีผลา ตรีกฏุก สืบต่อไป



อันว่าตรีผลานั้น ๑ ถ้าจะแก้เสมหสมุฏฐาน เอาสมออัพยา ๔ สมอพิเภก ๘ มะขามป้อม ๑๒



๒ ถ้าจะแก้ปิตตสมุฏฐาน เอามะขามป้อม ๔ สมออัพยา ๘ สมอพิเภก ๑๒



๓ ถ้าจะแก้วาตสมุฏฐานเอาสมอพิเภก ๔ มะขามป้อม ๘ สมออัพยา ๑๒ ทั้ง ๓ นี้ชื่อว่าพิกัตตรีผลาสมุฏฐาน



๑ อนึ่งว่าอันตรีกฏุกนั้น ถ้าจะแก้เสมหสมุฏฐาน เอาพริกไทย ๔ ขิงแห้ง ๘ ดีปลี ๑๒



๒ ถ้าจะแก้ปิตตสมุฏฐาน เอาดีปลี ๔ พริกไทย ๘ ขิงแห้ง ๑๒



๓ ถ้าจะแก้วาตสมุฏฐาน เอาขิงแห้ง ๔ ดีปลี ๘ พริกไทย ๑๒ ทั้ง ๓ นี้ได้ชื่อว่าพิกัตตรีกฏุกสมุฏฐาน



อันว่าตรีผลา ตรีกฏุก ทั้ง ๒ นี้ จะได้แต่จำเพาะสมุฏฐานอันใดหามิได้ เปนสาธารณะทั่วไปในกองสมุฏฐานทั้งปวงให้แพทย์พึงพิจารณาเห็นควรแก่กันแล้ว ก็ให้พึงประกอบขึ้นตามซึ่งท่านตราไว้

อนึ่งอันว่าลักษณะสมุฏฐานนั้นจะได้พ้นจาก ๓ ออกไปหามิได้ แต่ยังมิได้สำเร็จด้วยเถียงอยู่ในกองธาตุปถวีสมุฏฐานหนึ่งด้วยเกิน ๓ เข้ามาเปน ๔ ดุจกล่าวมานั้นแล้ว เหตุว่าจะได้แจ้งลงไว้ในที่นี้หามิได้ คือ หทัย, อุธทริย , กรีส , จัดเปน ปถวีสมุฏฐานสงเคราะห์เอาชาติจะละนะ ถ้าจะประกอบตรีผลาตรีกฏุกก็ดี แก้ในกองปถวีสมุฏฐานนั้น ในพระคัมภีร์นี้ท่าน ให้ประกอบโดยในส่วนเสมอภาค ด้วยปถวีเปนที่ตั้งแห่งภูมิสมุฏฐานทั้งปวง ดุจในพระคัมภีร์จะละนะสังคะหะกล่าวไว้ ให้แพทย์พึงรู้โดยไนยดังนี้

ไนยหนึ่งอันว่าลักษณะพิกัตส่วนสรรพยานั้น ท่านพิกัตลงไว้ ๓ ฐานคือส่วน ๑ บาทฐานหนึ่ง ส่วน ๑ สลึงฐานหนึ่ง ส่วน ๑ เฟื้องฐานหนึ่ง แลพึงกำหนดเอาโดยกำลังส่วนว่าจะควรแก่กันส่วนใดให้เอาส่วนนั้นตั้งเปนอาทิ จึงลดทวีกันไปตามในมหาพิกัตนั้น



อนึ่งอันว่าโรคอันใดก็ดี บังเกิดขึ้นในสมุฏฐานอันใดก็ดีแล สรรพยาที่จะแก้นั้นขนาดใดๆก็ดี ในท้องตรานั้นมีแต่ตรีผลาหรือตรีกฏุกก็ดี แลมีทั้งตรีผลาตรีกฏุกทั้ง ๒ นี้ก็ดี ให้พิจารณาในกองสมุฏฐานแลกองโรคว่าจะควรกับตรีอันใด ก็ให้เอาตรีนั้นมากระทำโดยส่วนพิกัตประสมเข้า ถ้ามีแต่ตรีกฏุก ตรีผลาหามิได้แต่กองโรคแลสมุฏฐานควรแก่ตรีผลา ก็ให้เอาตรีผลามากระทำขึ้นให้เต็มส่วนพิกัตเพิ่มเข้า ลดตรีกฏุกในท้องตำราลงตามส่วนพิกัต



ถ้ากองโรคแลสมุฏฐานควรแก่ตรีกฏุก ก็ให้เอาตรีกฏุกในท้องตำรานั้นกระทำขึ้นให้เต็มส่วนพิกัต ตรีผลาที่มิได้มีในท้องตำรานั้น ควรเติมจึงเติมโดยพิกัต ถ้ามิควรเติมอย่าเติมเข้าเลย แต่อย่าให้เสียสมุฏฐานเปนอาทิ ถ้าท้องตำรานั้นมีทั้งตรีผลา ตรีกฏุก แต่กองโรคแลสมุฏฐานควรแก่ตรีอันใดก็ดี พิจารณาแล้วกระทำทวีขึ้นแลลดลงโดยส่วนพิกัตดุจกล่าวแล้วแต่หลัง



อนึ่งอันว่าสรรพยาสิ่งใดก็ดี ที่ท่านตราไว้ในท้องตำรานั้น ยาขนานใดๆก็ดี แลจะเอามาแก้กองโรคแลสมุฏฐานนั้นจะได้มีใน มหาพิกัตนี้หามิได้ พึงให้แพทย์ประกอบขึ้นตามที่ท่านตราลงไว้นั้น แต่อย่าเสียสรรพคุณแลส่วน ๑ บาท เปนต้น ส่วน ๑ เฟื้องเปนที่สุด ควรจะลดจึงลดควรจะทวีจึงทวี ควรจะขาดจึงให้ขาด ควรจะเหลือจึงให้เหลือ สุดแต่โรคแลสรรพคุณเปนอาทิ แต่อย่าเสียสมุฏฐาน คือตรีผลา ตรีกฏุก พึงให้ประกอบในพิกัต อันควรกับสมุฏฐานโรคนั้นเจือเข้า ดุจนัยอันกล่าวไว้ดังนี้



อนึ่งอันว่าตรีผลา ตรีกฏุก เบญจกูลก็ดี ถ้ากระทำวิธีต้มประกอบให้เต็มส่วน ๑ บาท ถ้าจะกระทำวิธีทำผงให้ประกอบส่วน ๑ สลึง ถ้าจะกระทำวิธีแซก ประกอบให้เต็มส่วน ๑ เฟื้อง ถ้าจะกระทำวิธีลด ให้ลดลงกึ่งส่วนแซกจึงควร



๑ ไนยหนึ่งถ้าจะแก้ในคิมหันตสมุฏฐาน เอาตรีผลาเต็มส่วนพิกัต ตรีสาร ๔ ส่วน ตรีผลาส่วน ๑ ตรีกฏุกกึ่งส่วน ตรีสารตามพิกัต



๒ ถ้าจะแก้ในวสันตสมุฏฐาน เอาตรีกฏุกเต็มส่วนพิกัต ตรีผลา ๔ ส่วน ตรีกฏุกส่วน ๑ ตรีสารกึ่งส่วน ตรีกฏูกตามพิกัต



๓ ถ้าจะแก้ในเหมันตสมุฏฐาน เอาตรีสารเต็มส่วนพิกัต ตรีกฏุก ๔ ส่วน ตรีสารส่วน ๑ ตรีผลากึ่งส่วน ตรีสารตามมหาพิกัตท่านตราไว้



อนึ่งจะกล่าวถึงพิกัตโกฐแลเทียนสืบต่อไปดังนี้ ถ้าโกฐทั้ง ๕ คือโกฐสอ ๑ โกฏเขมา ๑ โกฐบัว ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุฬาลำพา ๑ อันนี้พิกัตเบญจโกฐ



อนึ่งถ้าโกฐทั้ง ๗ คือโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐบัว ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุฬาลำพา ๑ โกฐกระดูก ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ อันนี้พิกัตสัตตโกฐ



อนึ่งถ้าโกฐทั้ง ๙ คือโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐบัว ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุฬาลำพา ๑ โกฐกระดูก ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ โกฐพุงปลา ๑ โกฐชฎามังสี ๑ อันนี้พิกัตเนาวโกฐ



อันว่านอกกว่านี้ คือโกฐกักกรา ๑ โกฐกะกลิ้ง ๑ โกฐน้ำเต้า ๑ ทั้ง ๓ นี้เปนโกฐพิเศษ ให้แพทย์ดูแต่ควร จะแซกเข้าในยาขนานใดๆก็ได้ สุดแต่โรคกับสรรพคุณจะบอกนั้น



อนึ่งถ้าเทียนทั้ง ๕ คือเทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ เทียนขาว ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตาตั๊กแตน ๑ อันนี้พิกัตเบญจเทียน



อนึ่งถ้าเทียนทั้ง ๗ คือเทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ เทียนขาว ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตาตั๊กแตน ๑ เทียนเยาวพาณี ๑ เทียนสัตตะบุษย์ ๑ อันนี้เปนพิกัตสัตตเทียน



อนึ่งเทียนทั้ง ๙ นั้น เทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ เทียนขาว ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตั๊กแตน ๑ เทียนเยาวพาณี ๑ เทียนสัตตบุษย์ ๑ เทียนเกล็ดหอย ๑ เทียนตากบ ๑ อันนี้พิกัตเนาวเทียน



นอกกว่านี้ คือเทียนลวด ๑ เทียนขม ๑ เทียนแกลบ ๑ ทั้ง ๓ นี้ เปนวิเศษให้ดูแต่ควร จะเจือแซกเข้าในยาขนานใดๆก็ดีสุดแต่โรคตามสมควร



อนึ่งจะกล่าวด้วยพิกัตบัว บัวน้ำทั้ง ๕ คือ สัตตบุษย์ ๑ สัตตบรรณ ๑ ลินจง ๑ จงกลนี ๑ นิลุบล ๑ อันนี้พิกัตเบญจอุบล



นอกกว่านี้ คือบัวหลวงทั้ง ๒ สัตตบงกชทั้ง ๒ บัวเผื่อน ๑ บัวขม ๑ ทั้ง ๖ นี้เปนบัววิเศษ จะประกอบเข้าในยาขนานใดก็ดีดูแต่ควรกับโรคโดยสรรพคุณกล่าวไว้



อนึ่งจะกล่าวด้วยพิกัตเกลือ ถ้าเกลือทั้ง ๕ คือ เกลือสินเธาว์ ๑ เกลือพิก ๑ เกลือวิก ๑ เกลือฝ่อ ๑ เกลือสมุทรี ๑ อันนี้พิกัตเบญจเกลือ นอกกว่านี้ คือเกลือสุนจระ ๑ เกลือเยาวกาษา ๑ เกลือวิธู ๑ เกลือด่างคลี ๑ เกลือสุวษา ๑ เกลือกะตัง ๑ เกลือสมุท ๑ ทั้ง ๗ นี้เปนเกลือพิเศษ ถ้าจะประกอบเข้าในยาขนานใดๆก็ดี ดูแต่ควรกับโรคตามสรรพคุณสำแดงไว้



อนึ่งจะกล่าวในพิกัตโหรา ถ้าโหราทั้ง ๕ คือโหราอำมฤก ๑ โหรามิคสิงคลี ๑ โหราบอน ๑ โหราเท้าสุนัข ๑ โหราเดือยไก่ ๑ อันนี้พิกัตเบญจโหรา นอกกว่านี้ คือ โหราผักกูด โหราเข้าเหนียว โหราเขากระบือ โหราเขาเนื้อ โหราใบกลม มโหรา มหุรา มังโหรา ทั้ง ๘ นี้เปนโหราพิเศษจะประกอบในยาขนานใดๆก็ดี ให้แพทย์พึงพิจารณาสุดแต่ควรกับโรคนั้นเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น