บล็อกเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคและใช้ทางการเกษตรครับ

สุนันทโจ

21.7.53

พระคัมภีร์สรรพคุณ

พระคัมภีร์สรรพคุณ





๑ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยพฤกษชาติแล ว่านยาอันมีคุณแก่สัตว์ทั้งหลายต่างๆ ตามลำดับกันโดยสังเขปไว้ดังนี้ จะกล่าวคุณแห่ง สมอ ๗ ประการนั้นก่อนเปนปฐม (๑) คือสมอหนึ่ง ชื่อวิทยา ผลสองเหลี่ยมมีรสเย็นดังฟักแก้สรรพพิษทั้งปวง (๒) สมอหนึ่ง ชื่อโรหินี ผลกลมมีรสอันเปรี้ยวแลหวานระคนกันแก้เสมหะอันข้นแค่น (๓) สมอหนึ่ง ชื่อบุตรนา ผลสามเหลี่ยมมีรสอันฝาด แก้บิดมูกเลือด (๔) สมอหนึ่ง ชื่ออนุตา ผลสามเหลี่ยมแต่เมล็ดนั้นเล็ก มีรสอันหวานเย็น แก้ไข้ให้คลั่งแลบ้าดีเดือด (๕) สมอหนึ่ง ชื่อมุตตะกี ผลห้าเหลี่ยม มีรสอันเปรี้ยวแลร้อน แก้ลมอันแน่นอยู่ในนาภี แลทรวงอก (๖) สมอหนึ่ง ชื่ออัพยา ผลหกเหลี่ยม มีรสอันขมแลร้อน แก้โลหิตโดยรอบคอบในอุทร (๗) สมอหนึ่ง ชื่อวิลันตา ผลเจ็ดเหลี่ยม สีเหลืองดังสีทอง มีรสอันหวานขมฝาดร้อน แก้จตุธาตุ แลตรีสมุฏฐาน มีคุณเปนมหันต คุณยิ่งนัก อนึ่งสมอป่าผลใหญ่ นั้นแก้กระสายโรคในอุทรแลแก้บิด ดอก, แก้ลมอันลั่นอยู่ในโสตร กะพี้, แก้ไข้อันฟกบวม แก่น, แก้โลหิตแลแก้คอขึ้นเม็ดดุจหนามบัว ราก, แก้เสมหะ อนึ่งผลมะขามป้อมอ่อนนั้น มีรสอันเปรี้ยวหวานระคนกัน แก้มังสะ ให้บริบูรณ์แลทำให้เสียงเพราะ แก้พรรดึกแลพยาธิให้กองเสมหะ อนึ่งผลมะขาม (ป้อม) แก่ นั้น มีรสอันขมเผ็ดฝาดเปรี้ยวระคนกัน ห้ามเสียซึ่งลมแลไข้อันพิเศษ อนึ่งผลสมอพิเภกอ่อนนั้น มีรสอันเปรี้ยวสังหารเสียซึ่งลมแลไข้อันพิเศษ อนึ่งผลสมอพิเภกแก่ นั้น มีรสอันฝาดแก้โรคอันบังเกิดแก่จักษุ แก้โรคอันบังเกิดแต่ธาตุกำเริบแลไข้จับ บำรุงธาตุแลแก้ริดสีดวงเมล็ดใน, แก้บิดทั้งปวง ใบ, แก้บาดแผลทั้งปวงอันประกอบไปด้วยพยาธิ ดอก, แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ เปลือก, แก้ในทางปัสสาวะพิการ แก่น, แก้ริดสีดวงพลวก ราก, แก้โลหิตอันทำให้ร้อน



๒ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวสรรพคุณแห่งยาเบญจกูล อันอาจารย์ท่านกล่าวไว้สืบกันมา ว่ามีพระดาบส ๖ พระองค์ (๑) พระองค์หนึ่งชื่อฤาษีบัพพะตัง บริโภคซึ่งผลดีปลี อาจระงับอชินโรค (๒) พระองค์หนึ่งชื่อฤาษีอุธา บริโภคซึ่งรากช้าพลู อาจระงับเมื่อยขบ (๓) พระองค์หนึ่งชื่อฤาษีบุพเทวา บริโภคซึ่งเถาสะค้านอาจระงับเสมหะแลวาโยได้ (๔) พระองค์หนึ่งชื่อฤาษีบุพพรต บริโภคซึ่งเจตมูลเพลิง อาจระงับซึ่งโรคอันบังเกิดแต่ (ดี) อันทำให้หนาวแลเย็นได้ (๕) พระองค์หนึ่งชื่อฤาษีมหิทธิกรรม บริโภคซึ่งขิงแห้ง อาจระงับตรีโทษได้ (๖) พระองค์หนึ่งชื่อฤาษีมุรทาธร เธอองค์นี้เปนผู้ประมวลสรรพยาเข้าด้วยกันจึ่งชื่อว่าเบญจกูลเสมอภาค แลยาเบญจกูลนี้ถ้าผู้ใดได้บริโภคแล้ว อาจระงับโรคอันบังเกิดแต่ทวัตติงษาการ มีผมเปนต้นแลสมองเปนที่สุด แลบำรุงธาตุทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์



อนึ่งสรรพคุณพริกไทย นั้น ใบ, แก้ลม ๖ จำพวกแลตั้งจตุธาตุให้มั่น เมล็ด, แก้ลมอัณฑพฤกแลมุตคาด รู้ดับเสมหะอันฟุ้งซ่านให้งวดลง บำรุงธาตุให้เปนปรกติ แก้สรรพลมทั้งปวงอันเกิดในทรวง ดอก, แก้จักษุแดงดังโลหิต เครือ, แก้อติสาระ โรค แก้เสมหะอันคั่งอยู่



อนึ่งสรรพคุณตรีผลา นั้น กล่าวคือสมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ ทั้ง ๓ นี้ระคนกันเข้าจึงชื่อว่าตรีผลา ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจระงับโรคอันบังเกิดแต่ดี แก้เสมหะแลลมในกองธาตุฤดูแลกองอายุสมุฏฐานนั้นแล



อนึ่งสรรพคุณแห่งตรีกฏุก นั้น คือพริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ นี้ระคนกันเข้าจึงชื่อว่าตรีกฏุก แปลว่าของเผ็ด ๓ สิ่ง ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจระงับโรคอันบังเกิดแต่ลม แก้ดีแลเสมหะในกองสมุฏฐาน ตามธาตุฤดูแลอายุสมุฏฐานนั้นแล



อนึ่งสรรพคุณตรีสาร นั้น กล่าวคือเจตมูลเพลิง ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ทั้ง ๓ นี้ระคนกันเข้าจึงได้ชื่อว่าตรีสาระแก่น ๓ ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจระงับโรคอันบังเกิดแต่เสมหะ แก้ลมแลดีอันบังเกิดแต่ธาตุฤดูแลอายุสมุฏฐานนั้นดุจกล่าวมานี้



๓ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยลักษณะตรีผลากฏุก แลตรีสาระแลเบญจกูล ซึ่งกล่าวมาแล้วแต่หนหลังนั้น แลเบญจกูลนั้นจัดเปน ๔ ประการ คือ อภิญญาณเบญจกุล ๑ มหาพิกัตเบญจกูล ๑ โสฬศเบญจกูล ๑ ทศเบญจกูล ๑ แลตรีผลากฏุก แลสตรีสาระซี่งกล่าวมานี้ ยังมิได้สำเร็จตามนัยอธิบายแห่งอาจารย์ ท่านจัดไว้อันมีอยู่ในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยผูก ๒ ว่าด้วยมหาพิกัตนั้นโดยฐาน ในที่นี้ว่าไว้พอให้แจ้งแต่สังเขป ลำดับนี้จะกล่าวสรรพคุณซึ่งจะแก้โรคต่างๆ นั้นต่อไป ตามอธิบายแห่งอาจารย์แต่ก่อนกล่าวไว้ อนึ่งสรรพคุณแห่งขิงแห้งนั้น มีรสอันหวานย่อมแก้พรรดึก แก้ไข้จับ แก้นอนมิหลับ แก้ลมพานไส้ แก้ลมแน่นในทรวง แลลมเสียดแทงคลื่นเหียน ขิงสดนั้นมีรสอันหวานร้อน เผ็ด เหง้า, จำเริญอากาศธาตุ ดอก, แก้โรคอันบังเกิดแต่ดวงหทัย ใบ, แก้กำเดาให้บริบูรณ์ ต้น, สกดลมให้ลงไปทางคูถทวาร ราก, แก้ให้เสียงเพราะแลเจริญอาหาร ดีปลีมีรสอันเผ็ดขม ราก, นั้นแก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาตแลพิษปัสคาดต้น, บำรุงเสมหะ ใบ, แก้เส้นสุมนา เส้นอัษฏากาศ เถา, แก้อัณฑพฤกษ์แลมุตคาด ดอก, แก้ปถวีธาตุ ๒๐ ประการ จะกล่าวสรรพคุณแห่งช้าพลู ราก, แก้คูถเสมหะ ต้น, แก้อุระเสมหะ ผล, แก้สอเสมหะ ใบ, กระทำเสมหะให้งวด สะค้านเถา, แก้ลมอันบังเกิดในกองธาตุแลกองสมุฏฐาน ใบ, แก้ลมในกองเสมหะโลหิต ผล, แก้ลมอันบังเกิดในทรวงอก ราก, แก้ไข้อันประกอบไปด้วยหืด ดอก, ทำลายลมอันมีพิษ คือ พิษอัมพฤกษ์และปัสคาดอันเกิดแต่กองพรรดึก เจตมูลเพลิงแดง ราก, แก้จตุรการเตโชให้บริบูรณ์ ดอก, แก้พัทธะปิตตะ สมุฏฐาน ใบ, แก้อพัทธะปิตตะ สมุฏฐาน ต้น, แก้โลหิตอันบังเกิดแต่กองกำเดา เจ็ตมูลเพลิงขาว ราก, กระจายกองวาโยแลโลหิตอันมีพิษ ใบ, แก้วาโยในกองเสมหะ ดอก, แก้จักษุโรค ต้น, ชำระโลหิตอันเปนมลทินให้ตกเสีย



๔ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าว สรรพคุณแห่งโกฐทั้งหลาย อันมีคุณต่างๆ ดังนี้ (๑) คุณแห่งโกฐสอนั้นแก้ไข้จับแลหืดไอ (๒) โกฐเขมานั้นแก้โรคในปากในฅอ แลแก้หอบให้เสียดแทงสีข้างทั้งสอง (๓) โกฐบัวนั้น แก้ลมในกองริดสีดวงแลกระจาย ซึ่งสรรพลมทั้งปวง (๔) โกฐเชียงนั้น แก้ไข้ให้สะอึกแลให้ไอให้เสียดแทงสองราวข้าง (๕) โกฐจุฬาลำพานั้นแก้ไข้เจลียง แลแก้ผื่นพรึง ขึ้นทั้งตัว เปนเพื่อเสมหะแลหืดไอ (๖) โกฐกระดูกนั้นแก้ลมในเสมหะสมุฏฐาน (๗) โกฐก้านพร้าวนั้นแก้ไข้จับอันประกอบให้สะอึก แลแก้เสมหะแก้หอบ (๘) โกฐพุงปลานั้น แก้ไข้ในกองอติสารแลอุจจาระธาตุแลแก้พิษอันทำให้ร้อนเปนกำลัง (๙) โกฐน้ำเต้านั้น แก้พิษอันกระทำให้ธาตุมั่นแลแก้อุจจาระปัสสาวะให้บริบูรณ์ (๑๐) โกฐกักกรานั้น แก้ลมอันทำให้คลื่นเหียนแล แก้ดีพิการ แก้ริดสีดวงอันงอกในทวารทั้ง ๙ (๑๑) โกฐกะกลิ้งนั้น แก้โรคในปากในคออันประกอบไปด้วยกิมิชาติ อันเบียนบ่อน แก้ไข้ในทางปัสสาวะให้สะดวก แลแก้พิษงูตะขาบแลแมลงป่อง แก้ลมอันกระทำให้กระเพื่อมในอุทร แลคลื่นเหียน สมมุติว่าลมพานไส้ แก้ริดสีดวงทวารแลแก้โลหิตอันกระทำให้เย็นแลกระจายเสียซึ่งลมผูกกลัดทวาร แลลมตั้งมั่นอยู่ในอุทร (๑๒) โกฐจุฬารสนั้น กระจายบุพโพ อันเปนก้อน ฆ่าเสียซึ่งแม่พยาธิ์อันบังเกิดแต่ไส้ด้วนไส้ลาม อุปทม ขับโลหิตอันเน่าให้ตกแลแก้รัตตะปิตตะโรค สังหารเสียซึ่งโลหิตอันบังเกิดแต่กองปิตตะสมุฏฐาน กระจายเสียซึ่งสรรพพิษทั้งปวง กล่าวสังเขปคุณแห่งโกฐ ๑๒ ประการสิ้นเพียงนี้



๕ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณแห่งเทียนทั้งหลาย อันมีคุณแก่สัตว์ต่างๆ ดังนี้ (๑) เทียนดำนั้นแก้ลม อันบังเกิดแต่กองสมุฏฐาน ทำลายเสมหะอันผูกเปนก้อนอยู่ในท้อง แลแก้โลหิตให้บริบูรณ์ (๒) เทียนแดงนั้น แก้ซึ่งเสมหะลมดีระคนกันซึ่งเรียกว่าสันนิบาต แก้ลมอันเสียดแทงในลำไส้แลลมคลื่นเหียน (๓) เทียนขาวนั้นรู้แก้ลมทั้งปวง ทำลายเสียซึ่งเสมหะอันผูก แก้นิ่วแลมุตกิด (๔) เทียนตาตั๊กแตนนั้น แก้ธาตุแลทำลายเสียซึ่งเสมหะโลหิตกำเดาอันพิการให้บริบูรณ์ (๕) เทียนแกลบนั้น แก้เสมหะแลตัวพยาธิ์ แลกระจายเสียซึ่งพรรดึกอันผูก (๖) เทียนเยาวพาณีนั้น แก้เสมหะอันกระจาย ทำลายเสียซึ่งลมอันลั่นอยู่ในท้อง แลลมอันให้คลื่นเหียนแลให้จุกเสียด แก้ลมอันปวดป่วนอยู่รอบขอบสะดือ (๗) เทียนข้าวเปลือกนั้น ทำลายซึ่งลมอันระคนกันกับเสมหะ, แก้ลมในกองอัมพฤกษ์แลสุมนา แก้ลมสัตถกวาต ให้ระส่ำระสาย แก้ลมอันบังเกิดแต่กองปิตตสมุฏฐานกระทำให้คลั่ง (๘) เทียนตากบนั้นแก้อสุรินทญาณธาตุ ทำลายเสียซึ่งสมุฏฐานอันกำเริบหย่อนพิการตามในมหาพิกัด ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยโน้น (๙) เทียนลวดนั้น แก้ปิตตสมุฏฐานกำเริบแลแก้กำเดาให้บริบูรณ์ บำรุงผิวพรรณให้สดชื่น (๑๐) เทียนสัตตบุษย์นั้น แก้ลมในครรภ์รักษา แก้พิษอันระส่ำระสาย แก้ไข้จับให้หอบแลสะอึก (๑๑) เทียนขมนั้น แก้พัทธปิตตะ คือดีล้นซึมรั่วแลพลุ่ง แลแก้ลมในกองบาดทะจิต บำรุงหทัยวาตแลสัตถกวาต กล่าวสังเขปคุณแห่งเทียน ๑๑ ประการสิ้นแต่เพียงนี้



๖ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่ อันมีคุณต่างๆกันดังนี้ (๑) จะกล่าวคุณแห่งกานพลู นั้นกระจายเสียซึ่งเสมหะอันข้น แก้เสมหะอันบังเกิดในกองโลหิตแลดี แก้รัตตะปิตตะโรคแก้หืด แลกระทำให้อาหารงวด (๒) ผลจันทน์นั้นแก้ลมอันบังเกิดในกองเสมหะอันผูก, ทำลายเสียซึ่งลมอันผูกทวารไว้ให้มั่นกระทำอาหารเก่าใหม่ให้แน่นเข้า (๓) กระวาน นั้นใบ, กระทำให้วาโยเดินลงเบื้องต่ำ แลแก้ไข้อันเหงาง่วง แก้เสมหะ ผล, นั้นกระจายซึ่งเสมหะแลวาโยแลโลหิต ดอก, แก้โรคอันบังเกิดในจักษุอันเปื่อยเน่า เปลือก, แก้ไข้อันเปนอชินโรคแลอชินธาตุ กะพี้, ตั้งซึ่งโรคแต่ผิวหนัง แก่น, กระจายเสียซึ่งพิษทั้งปวง ราก, สังหารเสียซึ่งโลหิตอันเน่าเปนก้อนอยู่ในอุทรนั้นให้ตก (๔) เร่วน้อย นั้น ต้น, แก้ไข้อันบังเกิดแต่ดี ใบ, แก้ปัสสาวะให้เดินสะดวก ดอก, แก้ไข้อันเปนผื่นขึ้นทั้งตัว ผล, แก้ริดสีดวงไอหืด แลเสมหะ แลแก้พิษอันบังเกิดในกองมุตกิด แลมุตคาด ราก, แก้หืด (๕) เร่วใหญ่นั้น ผล, แก้เสมหะอันบังเกิดแต่ดี แก้ริดสีดวงงอกในทวารทั้ง ๙ ต้น, แก้คลื่นเหียน ใบ, แก้ทุลาวะสา ๑๒ ประการ ดอก, แก้พิษอันเปนเม็ดพรึงไปทั้งตัว ราก, แก้มองคร่อ แลหืดไอ (๖) อบเชยนั้น แก้ลมอัมพฤกษ์ ปลุกธาตุอันดับให้เจริญขึ้น แก้เสมหะอันบังเกิดในกองสันนิบาต (๗) ชะเอม นั้น ใบ, แก้โลหิตให้ตก ผล, ทำให้เสมหะงวด ดอก, แก้ดีแลโลหิต เครือ, แก้โรคในคอแลแก้รัตตะปิตตะ (๘) ชะเอมเทศ นั้น ใบ, กระทำให้เสมหะแห้งแลแก้ดี ดอก, แก้สรรพพิษฝีทั้งปวง ต้น, กระจายลมอันพัดขึ้นเบื้องบน ราก, แก้โลหิตอันเน่าในอุทร แลเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่น แก้กำเดาให้เปนปรกติ



๗ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวสรรพคุณต่อไป ผลผักชีนั้น มีรสอันขม ฝาด แลหวาน แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวงเจริญอภิญญาณธาตุ แก้สะอึกแลระหายน้ำ แก้คลื่นเหียนแลแก้โรคอันบังเกิดแต่ตา ขมิ้นชัน นั้น แก้ไข้อันบังเกิดแต่ดี ชำระโรคอันบังเกิดตามผิวหนัง ระงับแตโชธาตุให้ดับ แก้เสมหะทำให้ฟกบวมแลแก้บาดแผล ขมิ้นเครือ นั้น ใบ, แก้โลหิตเน่าให้ตก ดอก, แก้บิดแลมูกเลือด ต้น, กระจายลมอันบังเกิดแต่ดี แก้เสมหะแลไข้ตรีโทษ ราก, ขับลมอัมพฤกษ์ให้ตก ดองดึงนั้นแก้โรคเรื้อน มะเรง แลคชราช แลบาดแผล แลสังหารลมอันผูก มหาหิงคุ์นั้น แก้พรรดึก แลแก้ลมเสียดแทงแก้อชินโรคทั้ง ๔ ประการ กระทำให้อาหารงวดเจริญธาตุอันเปนมลทินให้ผ่องแผ้ว ชำระเสมหะแลลม การบูร นั้น กระทำให้อาหารงวด แก้ลมคูถทวารให้เปิด ทำลายเสมหะ ชะมดนั้นแก้อภิญญาณโรค แก้โลหิตอันกระทำให้ร้อนแลแก้โลหิตอันตั้งอยู่รอบคอบในอุทร แก้โลหิตอันตีขึ้นเบื้องบน ระงับธาตุอันกำเริบ ตั้งศรีสรรวรรณ ให้บริบูรณ์ ทำลายลม แก้แผลปวดแสบแลหืดไอพิมเสนนั้น แก้โรคอันบังเกิดแต่นาสิก แลกระจายลมทั้งปวง มีหทัยวาตเปนต้น มีสุมนาวาตเปนที่สุด อันตั้งอยู่โดยรอบคอบแห่งสมุฏฐาน น้ำประสานทองจีน นั้น แก้ริดสีดวงอันบังเกิดแต่นาสิก แก้เสมหะอันผูกในอุทร น้ำประสานทองเทศ นั้น แก้โรคอันบังเกิดแต่ลำคอ แก้ไข้อันผอมเหลือง แก้ริดสีดวง ๒ จำพวก คือ บังเกิดในจักษุแลทวารหนัก แก้ฟกบวมแลแก้ลม อัณฑพฤกแก้หืดไอแลมองคร่อ



๘ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวสรรพคุณต่อไป สน นั้นมีรสอันขมเผ็ด แก่น, ชุ่มไปด้วยน้ำมัน แก้ไข้อันบังเกิดแต่เสมหะแลกระจายเสียซึ่งลม กะพี้, นั้นแก้ไข้สันนิบาต ดอกคำ นั้นแก้โรคตามผิวหนัง แลแก้อภิญญาณโรค กระทำให้โลหิตบริบูรณ์งาม จันทน์ขาว นั้น มีรสอันขมหวาน กระทำให้เกิดปัญญาแล ราษี แก้ไข้อันเกิดแต่ตับแลดี แก้กระหายน้ำ จันทน์แดง นั้น มีรสอันขมเย็น แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวงแลดีกระทำให้ชื่นใจ แก้ไข้รัตตะปิตตะแลแก้บาดแผล เปราะหอมแดง นั้น ใบ, แก้เกลื้อนช้าง ดอก, แก้โรคอันบังเกิดแต่จักษุ ต้น, แก้ลมในอุทรซึ่งกระทำให้ท้องขึ้น หัว, แก้บุพโพโลหิตให้ตก แก้ลมอังคาพยพ แก้โรคซึ่งทำให้ตัวเปนผื่นพรึงแลแก้ไอ แก้พิษในทรวงแลแก้บาดแผล เปราะหอมขาว นั้น ใบ, แก้ฝีให้ตก ดอก, แก้กุมารโรคสะดุ้งร้องไห้แลเหลือกตาแลดูหลังคา ต้น, แก้โลหิตเน่าให้ตก หัว, กระจายโลหิตอันประกอบไปด้วยลมอันมีพิษ ชลูดแดง นั้น ใบ, กระจายโลหิต ราก, สังหารเสียซึ่งอภิญญาณโรค แก้รัตตะปิตตะอันบังเกิด แต่เหตุด้วยดีเปนต้น ชลูดขาว นั้น ใบ, แก้ไข้จับ ผล, แก้ไข้อันกำเริบ ดอก, แก้ไข้อันหาสติมิได้ แลแก้ลมอุทธังคมาวาต ราก, แก้ลมหทัยวาต แก้เสมหะแลไข้พิษ สมี นั้น ใบ, แก้สิวขึ้นหน้า แก้ไข้อันบังเกิดแต่ตับ ผล, ขับเสมหะให้สำรอกเสีย ดอก, แก้โลหิตสตรีอันมีครรภ์ เปลือก, แก้แม่พยาธิ์คือเกลื้อนใหญ่แลเกลื้อนน้อย ไส้, แก้พยาธิ์ให้ออกจากอุทร ราก, แก้สันนิบาตลงโลหิตออกมา ต้นตีนเป็ดน้ำ นั้น ใบ, ฆ่าพยาธิ์คือขี้กลาก ดอก, แก้ริดสีดวงทางทวาร ผล, แก้ผมหงอก เปลือก, แก้นิ่ว แก่น, กระจายลมอัณฑพฤก ราก, แก้เสมหะให้ตก



๙ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่สืบต่อไป ไม้เท้ายายม่อม นั้น แก้พิษเสมหะโดยรอบคอบ แลแก้สรรพพิษทั้งปวง ครอบทั้งสาม นั้น มีคุณดุจกัน ต้น, ตั้งไว้ซึ่งโลหิตแลลม ดอก, ชำระในลำไส้ให้บริสุทธิ์ ใบ, กระทำให้บุพโพตกออกมา ราก, แก้ลมแลดีกระทำให้เปนปรกติแห่งธาตุ เจริญสุคติธาตุแก้มุตกิด แลแก้ไอ แก้ไข้ผอมเหลืองแลเจริญอายุ ข่าใหญ่ นั้น หัว, ขับลมให้กระจาย แก้ฟกบวมแลแก้พิษ แก้บิดอันตกโลหิต ใบ, แก้ตัวพยาธิ์คือกลาก ดอก, แก้เกลื้อนใหญ่แลน้อย ข่าลิง นั้น ต้น, แก้พิษฝีดาษ ใบ, แก้พยาธิ์คือเกลื้อนใหญ่แลน้อย ดอก, แก้พยาธิ์ในอุทรให้ตก ราก, แก้ฝี หัว, แก้โรคสำหรับบุรุษ กะทือนั้น ต้น, แก้ไข้อันกระทำให้เบื่ออาหาร ใบ, แก้โลหิตอยู่ไฟให้ตก ดอก, แก้ไข้อันผมเหลือง ราก, แก้ไข้อันร้อนกระทำให้เย็น หัว, ตั้งน้ำนมแห่งสตรีให้บริบูรณ์ขึ้น แก้ปวดมวนในอุทร ไพล นั้น ต้น, แก้อุจจาระอันประกอบไปด้วยอุปัทวะ ใบ, แก้ไข้อันเมื่อยขบ ดอก, กระจายโลหิตอันบังเกิดแต่อภิญญาณธาตุ ราก, แก้โรคอันบังเกิดแต่โลหิตออกทางปากแลจมูก หัว, ขับโลหิตร้ายให้ตกเสีย กระชาย นั้น มีรสอันเผ็ดร้อนขม แก้โรคอันเกิดในปาก แลแก้มุตกิด แลลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาต หอม นั้น มีรสอันหวานเค็ม เลือก แก้ไข้หวัดแลไข้อันผูกเปนเจ้าเรือนแลแก้ไข้ อันบังเกิดแต่อชินธาตุ ๔ ประการ หัว, มีรสอันหวานเผ็ด แก้ไข้อันเกิดแต่ทรวง กระทำให้ผมดก แลให้มีศรีสรรวรรณงาม กระทำให้อาหารงวด แก้ไข้สันนิบาตแลไข้อันบังเกิดแต่จักษุกระทำให้เสมหะตก แก้โรคในปากแลบำรุงธาตุ กระเทียม นั้น หัวแก้เสมหะแลลม แก้เกลื้อนกลาก ใบ, กระทำให้เสมหะแห้ง แลกระจายโลหิต แลแก้ลมอันปวดมวน



๑๐ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะว่าด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่ต่อไป อันว่าคุณแห่ง กุ่มบก นั้น ใบ, แก้ลมแลฆ่าแม่พยาธิ์ กล่าวคือ ตะมอย แก้เกลื้อนอันบังเกิดขึ้นที่หน้า เปลือก, แก้นิ่วแลลมอันกระทำให้เย็นในท้อง แก่น, แก้ริดสีดวงผอมเหลือง ราก, แก้มานกษัย อันบังเกิดแต่กองลม กุ่มน้ำ นั้น ใบ, กระทำให้เหงื่อซ่านออกมา ดอก, แก้เจ็บในลำคอ ผล, แก้ไข้อันกระทำให้หนาวแลร้อน เปลือก, แก้สอึก แลแก้ลมให้เร็วขึ้นเบื้องบน แก่น, แก้ปะระเมหะ คือนิ่วเปนต้น ราก, ทำลายบุพโพอันผูกเปนก้อน คนทีสอขาว นั้น ใบ, ตั้งตรีสมุฏฐานให้เปนปรกติแก้ลมแลแม่พยาธิ์แลแก้สาบสางในกาย ดอก, แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง ผล, แก้พยาธิ์แลหืดไอ แลไข้ในครรภรักษา เปลือก, แก้ไข้อันกระทำให้เย็นแลแก้คลื่นเหียน แก้หญิงระดูพิการแลตั้งโลหิต ราก,แก้ไข้อันกระทำให้ร้อน คนทีสอดำนั้น เปลือก, แก้ไข้ฟกบวมแลแก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทงแลแก้พยาธิ์ ใบ, แก้เสมหะแลโลหิต ขับลมให้กระจายแลฆ่าแม่พยาธิ์ทั้งคชราชแลบำรุงธาตุให้ปรกติ ราก, กระจายลมอันเกิดแต่กองเสมหะ แก้เหงื่ออันแห้งให้ตกออกมา รักขาวนั้น มีรสอันจืด ใบ, แก้ริดสีดวงทวารแลคชราช ยาง, แก้ริดสีดวงในลำไส้ ดอก, แก้แม่พยาธิ์คือกลากเกลื้อน ผล, แก้รังแคต้น, บำรุงอากาศธาตุ ๙ ประการให้บริบูรณ์ ราก, แก้มูกเลือดแลไข้เลือด หญ้าพันงู นั้น ต้น, แก้ทางปัสสาวะอันขัดขัง ใบ, แก้โรคในลำคอดุจหนามก้านบัว ดอก, แก้เสมหะในท้อง ผล, ทำลายเม็ดนิ่วให้ตก ราก, แก้นิ่ว ๒๐ ประการ มะไฟเดือน ๕ นั้น ต้น, บำรุงธาตุแลกระทำอาหารให้งวด ใบ, แก้แม่พยาธิ์คือเกลื้อน กลาก ขี้เรื้อนกุฏฐัง แลไส้เดือนในท้อง ผล, กระทำให้โลหิตที่เสียในท้องให้ตก ราก, ทำลายโลหิตเบื้องบนให้ตก



๑๑ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณ นัยหนึ่งสืบไป กะเม็งนั้น ต้น, ขับลมให้กระจาย แก้โลหิตอันกระทำให้ร้อน ดอก, แก้ดีอันฟุ้งซ่านให้บริบูรณ์ ผล, แก้ลมอันเปนพิษให้ถอย ราก, แก้ลมวิงเวียนแก้ปวดในท้อง ว่านหางช้าง นั้น ต้น, แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยหนัง ใบ, แก้คุณ อันบุคคลกระทำด้วยเนื้อ ดอก, แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยผม ราก, แก้คุณอันบุคคลกระทำด้วยกระดูก ทองหลางใบมนนั้น ใบ, แก้ลมแก้ริดสีดวง แก้ไส้เลื่อนในท้อง ดอก, แก้โลหิตให้ตก ผล, บำรุงซึ่งดี เปลือก, แก้ววาโยโลหิตแลเสมหะให้ตก แก่น, แก้พิษฝี ราก, แก้สรรพพิษทั้งปวง คัดเค้านั้น ใบ, แก้โลหิตซ่าน ดอก, แก้โลหิตในกองกำเดา ผล, แก้โลหิตอันเน่าให้ตก ต้น, แก้โลหิตอันร้อนให้บริบูรณ์ ราก, แก้รัตตะปิตตะโรคนมพิจิตรนั้น ใบ, แก้สรรพพิษทั้งปวง มีพิษไข้เปนต้นมีพิษลมเปนที่สุด ดอก, แก้ลมอันมีพิษ ผล, ทำลายบุพโพให้แตกออก ราก, แก้ลมอันกระทำให้คลื่นเหียน กกลังกา นั้น ต้น, ทำลายดีอันผูกไว้ซึ่งพิษ ใบ, ฆ่าแม่พยาธิ์ทั้งปวง ดอก, แก้โรคในปาก ราก, กระทำให้โลหิตในท้องตกเสีย หัว, เจริญอภิญญาณธาตุแลอสุรินทญาณธาตุ สมุฏฐานพิกัตกระทำให้อาหารงวด กระทำเสมหะอันเฟื่องให้สงบลง สะเดา นั้น มีรสอันขมฝาดเย็น ใบ, กระทำให้ระมัดในท้อง บำรุงเพลิงธาตุกระทำให้อาหารงวด ดอก, แก้พิษโลหิตอันบังเกิดแต่กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอให้คันดุจตัวพยาธิ์ไต่อยู่ ผล, แก้ลมหทัยวาตแล ลมสัตถกวาตแลลมอันบังเกิดแต่กองปิตตสมุฏฐาน เปลือก, แก้บิดแลมูกเลือด กะพี้, แก้ดีแก้บ้าอันเพ้อคลั่ง แก่น, แก้ลมอันกระทำให้คลื่นเหียนอาเจียนแลลมอันผูกกลัดทวาร ราก, แก้เสมหะอันเปนสนับ อยู่ภายในท้อง แลแก้เสมหะอันติดอยู่ในลำคอให้ตก



๑๒ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่สืบไป พิลังกาสานั้น มีรสอันขมร้อน ใบ, แก้โรคอันบังเกิดแต่ตับ ดอก, แก้โรคอันประกอบไปด้วยพยาธิ์เปนต้น ผล, แก้ไข้กองอติสารโรค ต้น, แก้โรคกุฏฐัง ราก, แก้โรคสำหรับบุรุษกล่าวคือปรเมหะ ขี้เหล็ก นั้น ใบ, แก้มุตกิด ดอก, แก้โลหิต แก้นอนไม่หลับ แก้รังแค เปลือก, แก้ริดสีดวง กะพี้, แก้โลหิตอันกระทำให้ระส่ำระสาย แก่น, แก้ลมอันกระทำให้เย็นทั่วทั้งกาย แลแก้พยาธิ์ในท้องให้ตก ไส้, แก้โลหิตอันขึ้นเบื้องบน แลแก้โลหิตอันกระทำให้ระส่ำระสายในท้อง แก้โลหิตอันกระทำให้แสบในจักษุทวาร ราก, แก้ไข้อันกระทำให้หนาวแลแก้โรคอันเปนชินธาตุ หญ้าตีนนกนั้น แก้ไข้อันกระทำให้ร้อนระหายน้ำเปนเพื่อดีแห้ง ชะมดต้นนั้น ใบ, แก้พยาธิ์คือกลากเกลื้อน ดอก, แก้พยาธิ์คือไส้เดือนในท้องให้ตก ผล, พอกพยาธิโรคคือพิษฝีให้บุพโพพลันแตก เปลือก, ฆ่าแมลงคาเข้าหู กะพี้, แก้เกลื้อนช้าง แก่น, แก้ซึ่งแม่พยาธิ์กล่าวคือขี้เรื้อนใหญ่ขี้เรื้อนกวาง แลขี้เรื้อนน้ำเต้า ราก, แก้แม่พยาธิ์อันเกิดตามขุมขนแลรากผม รู้ห้าม รังแคมิให้บังเกิด ส้มป่อยนั้น ต้น, แก้น้ำตาพิการ ใบ, แก้โรคอันบังเกิดแต่ตาชำระโรคในลำไส้น้อยแลไส้ใหญ่ ดอก, นั้นแก้เอ็นอันวิปริตต่างๆให้บริบูรณ์ ผล, แก้ปากกุมารอันเปนเพื่อไข้ ชำระเสมหะอันเหนียว ราก, แก้ไข้อันกระทำให้ร้อนแลเย็น ราชพฤกษ์ นั้น ใบ, ฆ่าแม่พยาธิ์ทั้งปวง ดอก, แก้บาดแผลอันเรื้อรังมิได้หาย ฝัก, แก้เสมหะให้ตกแลแก้พรรดึก เปลือก, แก้เนื้อแลหนังให้ตั้งมั่นบริบูรณ์ กะพี้ , ฆ่าแม่รำมะนาด แก่น, แก้ไส้เดือนในท้องให้ตก ราก, ฆ่าแม่พยาธิ์คือคชราชนั้นให้ตาย แก้ไข้จับ



๑๓ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่ต่อไป อันว่าคุณแห่งตีนเป็ดต้น นั้น ใบ, แก้ไข้หวัด ดอก, แก้ไข้เพื่อโลหิต ผล, แก้ไข้เพื่อเสมหะ เปลือก, แก้ไข้เพื่อดี ต้น, แก้อภิญญาณธาตุแลแก้โลหิตพิการให้ตก ราก, ขับลมให้กระจายชุมเห็ดไทย นั้น แก้ไข้เพื่อวาโยแลเสมหะ แก้หืดแลคชราช ผล, แก้ฟกบวม ชุมเห็ดเทศ นั้น ใบ, ฆ่าพยาธิ์อันเดินตามผิวหนัง ดอก, กระทำให้ผิวหนังบริบูรณ์งามดีมีสีมีใย ผล, แก้พยาธิ์ในท้องให้ทำลาย ต้น, แก้คชราชแลเกลื้อนกลากทั้งปวง ราก, แก้หิดแลสิวอันบังเกิดในผิวหนัง บวบขม นั้น แก้ริดสีดวงงอกแลหืด ชำระเสมหะ ผักปลัง นั้น เถาแก้พิษฝีดาษ ใบ, แก้กลาก ดอก, แก้เกลื้อน ราก, แก้มือด่างเท้าด่างแลรังแค ผล, แก้พิษทั้งปวงมีพิษฝีเปนต้น หญ้าแพรก นั้น แก้สรรพพิษอันกระทำให้คันแลร้อน แก้รัตตะปิตตะโรคแลแก้ฝีดาษ ฝางเสน นั้น แก้ลมแลแก้เสมหะแลดี แลทำลายโลหิตอันมิได้บริสุทธิ์นั้นให้บริบูรณ์ เสนียดนั้น ใบ, แก้แผลในลำคอแลแก้คอเปนโรคดุจหนามก้านบัว แก้แม่พยาธิ์ในไรฟัน ห้ามเสียซึ่งรัตตะปิตตะโรคแลไข้จับ แก้คชราชแลฟกบวม กระทำผิวหนังให้ผ่องใส โคกกระออมนั้น เถา, แก้ไข้จับ ใบ, แก้หืดแลไอ ดอก, แก้โลหิตในท้องให้ตก ผล, แก้จตุรการเตโชให้บริบูรณ์ ราก, แก้ตาอันเปนต้อ แลแก้พิษงูเห่า ผลมะตูมอ่อนนั้น แก้วาโยโลหิต แลเสมหะ แลบุพโพอันเน่าในท้องให้ตกเสีย แลแก้สมุฏฐานแห่งตรีโทษ มะตูมแก่ นั้น แก้เสมหะแลลมบำรุงซึ่งสุคติธาตุให้บังเกิด แลกระทำให้อัคนีผลเจริญขึ้น กระทำอาหารในท้องให้งวด อันว่าผลแห่งมะตูมสุก นั้น แก้ลมอันเสียดในท้อง แก้มูกเลือด แลบำรุงซึ่งจตุรการเตโชกระทำให้อาหารงวด แก้ระหายน้ำเพื่ออนุโลมตามวาโยธาตุนั้นดุจกล่าวไว้นี้



๑๔ ปุน จปรํ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่ต่อไป อันว่าคุณแห่งผักโหมหินแลผักโหมหัด นั้น ต้น, แก้ลมอันผูกเปนก้อนแลลมให้เรอ ใบ, แก้เสมหะแลดี ดอก, แก้โลหิตอภิญญาณให้ตั้งอยู่เปนปรกติ ราก, แก้ลมอัมพฤกษ์ให้ตกแก้ริดสีดวงงอกทวารแลแก้เสมหะ รากจิงจ้อ นั้น แก้เสมหะลมแลดี กระทำให้อาหารงวด ประหารเตโชอันกล้าให้ถอยลง ตองแตก นั้นมีรสจืด แก้โรคอันบังเกิดแต่แม่พยาธิ์ แก้เสมหะแลฟกบวม ทำลายอุจจาระอันกล้าให้ตก ทนดี นั้น แก้โรคอันบังเกิดแต่ลมแลเสมหะ แก้โรคในกองปรเมหะ ๒๐ ประการให้ถอยดับเตโชธาตุแลกระทำอุจจาระมิให้ผูกเข้าได้ สหัสคุณไทย นั้น ต้น, แก้ลมภายในให้กระจาย ผล, แก้คุณอันกระทำด้วยผมให้ตกเสีย ดอก, แก้เสมหะให้ตก ราก, แก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ ใบ, แก้ลมอันเสียดแทงยอกในข้อ แก้ไข้อันผอมเหลืองแลหืดไอ สหัสคุณเทศ นั้น ใบ, แก้ลมอันผูกเปนก้อนให้กระจาย ดอก, แก้แม่พยาธิ์ทั้งปวง ผล, ฆ่าเสียซึ่งพยาธิ์อันบังเกิดแต่ไส้ด้วนไส้ลาม เปลือก, แก้โลหิตในลำคอแลลำไส้ให้กระจาย กะพี้แลแก่นนั้น แก้โลหิตในลำไส้ ราก, แก้ริดสีดวง สลอด นั้น ใบ, แก้ตะมอยแลแก้ไส้ด้วนไส้ลาม ดอก, ฆ่าแม่พยาธิ์อันบังเกิด แต่กลากแลคชธาร ผล, แก้ลมอัมพฤกษ์ ดับเตโชมิให้เจริญ เปลือก, แก้เสมหะอันคั่งอยู่ในลำคอแลทรวงอก รากแลไส้นั้นแก้โรคเรื้อนแลกุฏฐัง แลแก้ริดสีดวงอันผอมเหลือง ดุจกล่าวมานี้



๑๕ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่ต่อไป อันว่าคุณแห่งแตงหนูนั้น ต้น, แก้เสมหะให้ตก ใบ, แก้ไข้จับอันกระทำให้สะท้านหนาว ดอก, แก้พิษโลหิตอันเน่าให้ตก ผล, แก้ไข้จับให้สะท้านร้อน ราก, แก้ขัดปัสสาวะแลแก้ลมแก้เสมหะแลคชราช ชิงชี่นั้น ต้น, แก้บวม ดอก, แก้โรคมะเร็ง ผล, แก้โรคอันบังเกิดในลำคอ ราก, แก้โรคในท้องแลแก้ลมภายในให้ซ่านออกมา บอระเพ็ดแลชิงช้าชาลี นั้น มีคุณดุจเดียวกัน ต้น, แก้พิษฝีดาษ แลแก้ไข้เหนืออันบังเกิดเพื่อโลหิต แก้ฝีกาฬอันบังเกิดเพื่อฝีดาษ แก้ไข้ตรีโทษแลกระทำให้เกิดกำลัง เจริญ เพลิงธาตุให้บริบูรณ์ แก้กระหายน้ำอันเปนเพื่อโลหิตแลลม แก้สะอึกแลสมุฏฐานกำเริบ ใบ, ฆ่าแม่พยาธิ์ในท้องแลในฟันแลหูให้ตก ผล, แก้เสมหะอันเปนพิษ ราก, แก้โลหิตอันเปนพิษไข้เหนือแลไข้สันนิบาต บอระเพ็ดพงช้าง นั้น ต้น, แก้ลมแน่นในทรวงให้กระจาย ใบ, บำรุงซึ่งไฟธาตุ ดอก, ฆ่าแม่พยาธิ์อันบังเกิดแต่โรคเรื้อนแลกุฏฐัง ผล, กระทำให้อาหารงวด หนาม, แก้โลหิตอันเน่าในท้องให้ตก หัว, แก้เสมหะในคอแลทรวงอกให้เปนปรกติ ผักปอดตัวเมียนั้น ต้น, แก้ไข้สตรีอันอยู่ในเรือนไฟ ใบ, แก้เหงื่ออันบุคคลเปนท้องมานให้ตก ดอก, แก้ริดสีดวงอันเปนเพื่อโลหิต ราก, แก้ไข้จับอันกระทำให้ร้อน ผักปอดตัวผู้นั้น ต้น, แก้โลหิตพิการ ใบ, แก้ลมให้ตก ดอก, แก้ไข้อันกระทำให้หนาว ราก, แก้ลมแลโลหิตให้กระจาย พลูแก นั้น ต้น, ฆ่าแม่พยาธิ์ภายในอันเกิดแต่ริดสีดวง ใบ, ฆ่าแม่พยาธิ์ภายนอกอันบังเกิดแต่ผิวหนัง ดอก, แก้โรคอันเกิดแต่จักษุ ราก, แก้โลหิตอันระคนด้วยลมให้ตกแลต้น, ใบ, ดอก, ราก, ทั้ง ๔ นี้ ระคนกัน ต้มให้กินแก้โรคเรื้อนใหญ่แลน้อย แก้คชราช มะเร็ง กลาก เกลื้อน หิด สิว อันบังเกิดขึ้นนั้นหาย



๑๖ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยสรรพคุณ นัยหนึ่งใหม่สืบต่อไป อันว่าคุณแห่งยาข้าวเย็นโคกแดงนั้น ต้น, แก้อชินโรค ๔ ประการ ใบ, แก้ไข้เหนือแลสันนิบาต ดอก, แก้พิษงูเห่า ผล, แก้ลมแลริดสีดวง หัวแลราก, แก้พยาธิ์ในท้อง ยาข้าวเย็นโคกขาว นั้น ต้น, แก้พิษงูดิน มีรูปดังเฉลน ใบ, แก้ฟกบวม ดอก, แก้มะเร็งแลคชราช ผล, แก้อัณฑะอุ้ง รากแลหัว, แก้คุณผี ผักเสี้ยนผี นั้น ต้น, กระจายบุพโพอันผูกเปนก้อนให้ตก ใบ, แก้ทุราวสา ๑๒ ประการ ดอก, ทำลายเสียซึ่งกิมิชาติ ผล, ฆ่าพยาธิ์ให้ตาย ราก, แก้วรรณโรคแห่งสตรีอันอยู่ไฟมิได้ ผักเสี้ยนไทย นั้น ต้น, แก้โลหิตอันเน่ากระทำให้ จับสะท้าน ดอก, แก้โลหิตแห่งสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ ผล, ฆ่าไส้เดือนในท้องให้ตาย ใบ, บำรุงเสมหะให้เปนปรกติ ราก, แก้ลมอันเปนพิษ กระเบียนกระเบา นั้น ใบ, แก้บาดแผลอันถูกหอกดาบ ดอก, ฆ่าแม่พยาธิ์อันเกิดแต่เกลื้อนแลกลาก ผล, แก้มะเร็งแลคชราชโรคเรื้อนแลกุฏฐัง เปลือก, แก้ริดสีดวง แก่น, แก้เสมหะให้ตก ราก, แก้เสมหะอันมีพิษเน่าให้ไหลออกมา สลอดน้ำ นั้น ใบ, บำรุงเนื้อแลหนังให้ตั้งมั่นเปนปรกติ ดอก, แก้ริดสีดวงในจมูก แก้ปวดหัวแลโรคอันเกิดแต่ตา ผล, แก้ลมสันดาน เปล้าใหญ่ นั้น ใบ, แก้ธาตุให้บริบูรณ์ ดอก, ฆ่าแม่พยาธิ์ทั้งปวง ผล, แก้ไข้สตรีอันอยู่ในเรือนไฟ เปลือก, แก้เสมหะให้ตก แก่น, กระทำให้อาหารงวด แก้ลมอันผูกเปนก้อนให้กระจาย ราก, แก้โลหิตในท้องให้ตก เปล้าน้อย นั้น ใบ, กระทำธาตุให้ตั้งมั่น ดอก, ฆ่าแม่พยาธิ์ ผล, แก้บุพโพให้กระจาย เปลือก, กระทำให้อาหารงวด แก่น, แก้โลหิตให้ตก ราก, แก้ลมเบื้องบนให้เปนปรกติ



๑๗ ปุน จปรํ ในลำดับนี้ จะกล่าวด้วยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่สืบต่อไป อันว่าคุณแห่งโมกหลวง นั้น ใบ, แก้ไส้เดือนในท้องให้ตก ผล, แก้วรรณโรคแห่งสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ เมล็ดใน นั้น แก้ไข้อันเกิดเพื่ออติสารโรคแลวาโยโลหิต เปลือก, แก้ไข้จับอันเปนเพื่อลม เลือด เสลด กระพี้, แก้โลหิตให้เปนปรกติ แก่น, ฆ่าแม่พยาธิ์อันบังเกิดแต่กลาก ราก, แก้โลหิตอันร้ายให้ตก โมกมันนั้น ใบ, แก้เหงื่อแห่งบุคคลเปนท้องมานให้ตก ดอก, ทำลายพรรดึก ผล, ฆ่าแม่พยาธิ์อันเกิดแต่ฟันให้ตาย เปลือก, ฆ่าแม่พยาธิ์อันเกิดแต่คชราช กระพี้, แก้ดีให้ตั้งเปนปรกติ แก่น, แก้เลือดร้ายอันคั่งอยู่ในท้องให้ตก ราก, แก้ลมสันดาน แคแตรแลลำไยนั้น มีคุณดุจเดียวกันแก้เสมหะแลแก้ลม รากเพกานั้น บำรุงไฟธาตุมิให้ดับ แลแก้ไข้สันนิบาต รากคัดริ้นนั้น สีรสอันร้อนยิ่งนัก มิได้ชอบโรคอันบังเกิดแต่ดีเดือด ชอบแต่แก้เส้น รากมะตูมนั้น แก้หืดหอบไอ บำบัดเสมหะแลดี แก้ไข้ให้ร้อนแลแก้อชินโรค แก้ลมอันแน่นอยู่ในทรวงแลยอกเสียดเกลียวข้างทั้งสอง แก้มุตกิดแลมุตคาด



จะกล่าวสรรพคุณอันประมวนเข้ากันไว้ให้พึงรู้ คือรากแคแตร รากลำไย รากเพกา รากคัดริ้น รากมะตูม ทั้ง ๕ สิ่งนี้ อาจารย์ท่านจัดไว้ ชื่อว่าเบญจมูลใหญ่ แก้ในกองธาตุแลสมุฏฐาน แก้อติสารวรรค ๑๑ ประการ แลแก้บุพรูปอติสาร อันบังเกิดเพื่อเสลด แลดี แลลม แก้อชินโรคอติสารแลอุจจาระวิปริตในสมุฏฐานโทษ ซึ่งกล่าวมานี้แจ้งอยู่ในคัมภีร์อติสารวรรค จลณะสังคหะ แลคัมภีร์ทิพยมาลาโน้นเสร็จแล้ว อันว่าคุณแห่งเบญจมูลนี้ แก้โรคอันทำให้สะอึก แก้โรคผอมเหลือง แลแก้ริดสีดวง แลแก้โรคนิ่ว ๒๐ ประการ ทุราวสา ๑๒ ประการ แก้ในกองกาฬ สันนิบาต ๕ ประการ แก้ไข้อันมีพิษ ๓๐ ประการ แก้ลมอันมีพิษ ๓ ประการ ตามไนยอันอาจารย์ท่านกล่าวไว้สืบกันมา



๑๘ ปุน จปรํ ในลำดับนี้ จะกล่าวดวยสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่สืบต่อไป ว่าด้วยคุณแห่งเกลือทั้ง ๕ คือเกลือสินเธาว์ ๑ เกลือวิก ๑ เกลือพิก ๑ เกลือฝ่อ ๑ เกลือสมุทะรี ๑ ทั้ง ๕ ประการนี้มีคุณต่างๆกัน วิธีจะทำเกลือนั้น ให้เอาเกลือธาระคือเกลือทะเล มาตำให้ละเอียดแล้วเทน้ำท่าลงพอสมควร ต้มด้วยหม้อใหญ่ให้แห้งแล้วสุมไฟแกลบจนหม้อแดงเอาไว้ให้เย็น จึงเอาเกลือนั้นมาแบ่งไว้เปน ๕ ส่วน ถ้าจะทำเกลือสินเธาว์ ให้เอาส่วน ๑ มาทำเปน ๒ ส่วน เอาน้ำนมโคเท่าส่วนเกลือส่วน ๑ ลงกวนกันให้ได้ ๓ วันให้แห้ง จึงได้ชื่อว่าเกลือสินเธาว์ ตามอาจารย์ท่านกล่าวไว้ ว่ามีคุณทำลายเสียซึ่งพรรดึก แก้ระส่ำระสายแลสมุฏฐานตรีโทษ ถ้าจะทำให้เปนเกลือวิกนั้น ให้เอาเกลือส่วน ๑ มาทำเปน ๒ ส่วน เอาเหล้าเท่าส่วนเกลือส่วน ๑ ลงกวนกันให้ได้ ๓ วันให้แห้ง จึงได้ชื่อว่าเกลือวิก ตามอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า มีคุณแก้อภิญญาณธาตุ ทำลายเสียซึ่งโรคในท้องคือท้องมาน แก้ไส้พองท้องใหญ่กระทำให้กายชุ่มชื่น ถ้าจะทำให้เปนเกลือพิกนั้น ให้เอาเกลือส่วน ๑ นั้นมาทำเปน ๒ ส่วน เอาน้ำผึ้งเท่าเกลือส่วน ๑ ลงกวนกันให้ได้ ๓ วันให้แห้ง จึงได้ชื่อว่า เกลือพิก ท่านกล่าวไว้ว่ามีคุณกระทำให้เสียงเพราะให้ชุ่มในลำคอ ถ้าจะทำให้เปน เกลือฝ่อนั้น ให้เอาเกลือส่วน ๑ นั้นมาทำเปน ๒ ส่วน เอาน้ำมันงาน้ำมันเปรียงเท่าเกลือสิ่งละส่วนลงกวนให้ได้ ๓ วัน ให้แห้งจึงชื่อว่า เกลือฝ่อ อาจารย์แต่ก่อนกล่าวไว้ว่า มีคุณแก้โดยอนุโลม แล ปฏิโลม แห่งโรค แก้โรคอันเสียดแทงบำรุงไฟธาตุ แก้กุมารโรคแลแก้พรรดึก แก้มูกเลือดให้อันตรธานวิเศษนัก ถ้าจะทำให้เปนเกลือสมุทะรี ให้เอาเกลือส่วน ๑ นั้น มาทำเปน ๒ ส่วน เอาน้ำมูตรโคเท่าเกลือส่วน ๑ ลงกวนกัน ให้ได้ ๓ วันให้แห้ง จึงได้ชื่อว่า เกลือสมุทะรี ตามอาจารย์ท่านกล่าวไว้สืบๆกันมา ว่ามีคุณกระทำให้อาหารงวด แก้ระส่ำระสายเจริญธาตุทั้ง ๔ แก้พรรดึกแลแก้ดีเดือด แก้โรคอันบังเกิดแต่ตา ดุจดังกล่าวมานี้



๑๙ ปุน จปรํ ในลำดับนี้จะกล่าวด้วยวิเศษสรรพคุณนัยหนึ่งใหม่สืบต่อไป (๑) อันว่าคุณแห่งขัดมอนทั้ง ๒ อ้อยแดง อันว่ายาหมู่นี้ แก้ไข้ครรภรักษา (๒) จันทน์เทศ ขัณฑสกร หัวแห้วหมู โกฐกระดูก ว่านน้ำ ขมิ้นชัน เจตมูลเพลิง ตำแยเครือ ขิงสด อันว่ายาหมู่นี้ กระทำให้ฟกบวมยุบลง (๓) รักขาว ละหุ่ง แตงกวา เจตมูลเพลิง สังข์ รงทอง จุกโรหินี พรมมิ อันว่ายาหมู่นี้ กระทำให้อุจจาระบริสุทธ์ (๔) น้ำผึ้ง ซองแมวใหญ่ โลดทะนง ประยงค์ ผักชี ยางมะขวิด อันว่ายาหมู่นี้แก้โรคอันบังเกิดแต่กระดูก (๕) มหาหิงคุ์ พริกไทย ฝักมะขามแก่ เทียนเยาวพาณี ผลรักเทศ เบญจมูล อันกล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้น อันว่ายาหมู่นี้เจริญไฟธาตุ (๖) จันทน์หอม บุนนาค ชะเอม แฝกหอม บัวหลวง มะกล่ำต้น อบเชย อันว่ายาหมู่นี้ แก้วรรณโรคแลบาดแผลทั้งปวงหายแล (๗) โมกหลวง กระเบียน มะตูม เจตมูลเพลิง ขิงแห้ง หัวแห้วหมู สะค้าน ตำแยเครือ ส้มป่อย เทียนสัตตบุษย์ ขมิ้นอ้อย ยาหมู่นี้แก้มูลวาตคือลมจุกเสียดแลแก้ริดสีดวงงอกในทวารหนัก (๘) แก่นตะเคียน สีเสียด มะขามป้อม ผลรักเทศ ขมิ้นอ้อย สมอ สัตตบรรณ ลั่นทม ราชพฤกษ์ พิลังกาสา มะลิลา อันว่ายาหมู่นี้แก้โรคกุฏฐัง (๙) แฝกหอม ราชพฤกษ์ จันทน์เทศ เมล็ดผักกาด หัวแห้วหมู สะเดา โมกหลวง ชะเอม สะตือ เทียนสัตตบุษย์ ขมิ้นอ้อย อันว่ายาหมู่นี้แก้หืดแลฝีทั้งปวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น