บล็อกเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคและใช้ทางการเกษตรครับ

สุนันทโจ

22.7.53

วิเศษสรรพคุณ

ในวิเศษสรรพคุณนี้ เปนแต่สังเขปพอให้แพทย์พึง รู้น้ำกระสายแห่งยา ซึ่งรักษาโรคอันใดอันหนึ่งตามอาจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้



สิทธิการิยะ จะสำแดงด้วยลักษณะไม้อันมีคุณเสมอกันสืบต่อไป



คุณแห่งมะขามป้อมมีคุณเหมือนกันกับเสมอ แต่ว่าน้อยกว่าคุณสมอหน่อยหนึ่ง คุณสมอพิเภกนั้นเสมอกันกับมะขามป้อม



เกลือสินเธาว์กับสมอมีคุณเสมอกัน แก้ลมจุกเสียดผายธาตุ แลเสมอพิเภกกับเกลือสินเธาว์แก้เลือดแก้กำเดา มะขามป้อมกับเกลือสินเธาว์ แก้เลือดแก้เสมหะ สมอไทยสมอพิเภกแลมะขามป้อมสามสิ่งนี้ชื่อตรีผลา



พริกไทยนั้นมีรสอันเผ็ดร้อน ให้เกิดกำเดาให้กำเดาแห้งชอบ แต่แก้ลมในอก เจริญไฟธาตุแลลมอันเย็นทั่วสรรพางค์ แก้เสมหะ



รากดีปลีมีรสเผ็ด แก้ตัวร้อนแก้พิษคชราช ให้ปิดธาตุ ผลดีปลีมีรสเสมอกันกับราก แก้ลมเจริญไฟธาตุแก้หืดไอแก้เสมหะ



รากเจตมูลเพลิง มีรสร้อนแก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ตัวร้อนแก้บวมแก้คชราช มีคุณเสมอกันกับดีปลี

คุณขิงแห้ง แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ไอลึกในทรวงอก



ขิง ดีปลี พริกไทย คุณเสมอกันมีรสอันเผ็ด บำบัดโรคในอกแก้ลมทั้งปวง เจริญไฟธาตุแลแก้เสมหะแก้หืดไอ สามสิ่งนี้ประสมกันแก้ตรีสมุฏฐานโทษ คุณทั้ง ๓ สิ่งนี้ชื่อตรีกฏุกแล



ขิงสดมีรสเผ็ดร้อน แก้ลมในกองไฟธาตุให้กระจายเสีย แก้ลมพรรดึกแก้จุกเสียด แก้โรคในอกเจริญอาหาร แก้ไข้ ๑๐ ประการให้สมบูรณ์ ผลดีปลี, รากช้าพลู, สะค้าน, ขิงแห้ง, รากเจตมูลเพลิงทั้ง ๕ สิ่งนี้ชื่อเบญจกูลแล



อุโลกแก้พิษ รากแตงอุลิด แก้ร้อนกระหาย รากพุงดอ แก้บวม แก้ลม รากคันทรงดอกเหลืองแก้ริดสีดวงพลวก โคกกระสุน, ตับเต่า, อ้ายเหนียว, แลสรรพยา ๗ สิ่งนี้แก้ระหาย แก้ไข้สะบัดร้อนสะบัดเย็น แก้ลมมีพิษ แก้มูตรพิการ



มะรุมมีรสเผ็ดหวานขม แก้บวม เจริญไฟธาตุ รากกุ่มบกก็เหมือนกัน เปลือกทองหลางใบมนแก้เสมหะ แก้ตัวร้อน ผู้ใดเกิดลมเปนกำลังแล้ว จะกินยาขนานใดๆ ซึ่งจะแก้ลมนั้นตามตำราอันกล่าวไว้ในคัมภีร์ทั้งปวง ก็ให้งดรอไว้อย่าเพ่อให้กิน จงประกอบยาเข้า เปลือกกุ่ม, เปลือกมะรุม, เปลือกทองหลางใบมน, ให้กินเสียก่อนจึงชอบแล



โกฐก้านพร้าวมีรสขม แก้สะอึก, แก้ราก, แก้เสมหะ, แก้ลม, แก้ไข้สำประชวร แลแก้กำเดา

สมุลแว้งมีรสเผ็ดร้อน แก้ริดสีดวงในปากในคอ แก้หืดไอแลแก้ลมสำประชวร



มหาหิงคุ์นั้น ให้ย่อยอาหารแลเจริญไฟธาตุ แก้เสมหะ แก้ลมจุกเสียด แก้พรรดึก แก้บวมแล



เปลือกแคมีรสฝาดแลเค็มรู้ปิดธาตุ ใบนั้นมีรสจืด เจริญใจให้ผ่องแผ้ว เปลือกแลใบทั้งสองสิ่งนี้คุณเสมอกัน



หัวกระเทียม ให้ย่อยอาหารบำบัดโรคในอก กระทำให้ผมงาม แก้พรรดึกแก้ลมจุกเสียด ใบกระเทียมแลก้านแก้ฟกบวม



หัวหอมมีรสหวาน แก้ลมพรรดึกแลเจริญไฟธาตุเจริญอาหาร แก้กำเดา ใบนั้นเหมือนกันแล



ตะไคร้หอมมีรสเผ็ดร้อน หญิงกินให้ลูกตกแก้ริดสีดวงในปาก



ผลผักชีมีรสร้อนหวานบำบัดโรคในอก เจริญไฟธาตุ แก้อาเจียน แก้ไข้ แก้ริดสีดวงในตา



ผักคราดทั้ง ๒ มีรสเผ็ดร้อน แก้จุกเสียด เจริญไฟธาตุ แก้รำมะนาด แก้ลมพิษ แก้หืดไอ แก้สะอึก



กะเพรา, กะม็ง มีรสเผ็ดร้อนแลมีคุณเสมอกับผักคราด



ใบคนทีสอแลใบคนทีเขมา มีรสเผ็ดร้อนเสมอกัน แก้ตัวพยาธิ์ แก้ฟกบวม แก้เสมหะ แก้ลม แก้ริดสีดวงในคอแล



เมล็ดพรรณผักกาดมีรสเผ็ดร้อน แก้เสมหะ แก้ลม แก้จุกเสียด ผายธาตุแล



ผักโหมแดงแลขาว, มีรสอันร้อนทำให้รู้จักรสอาหาร แก้ไข้สำประชวรแล



จิงจ้อเหลืองแลขาว มีรสอันร้อน แก้ฟกบวม แก้ลมพรรดึก แลย่อยอาหาร แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้กำเดาแล



รากทนดีมีรสอันร้อนแก้ตัวพยาธิ์ แก้ลมพรรดึก แลลมจุกเสียด แก้ฝี กุฏฐัง แก้ลมอันให้เย็น แก้ไข้ตรีโทษแล



ดองดึงมีคุณเสมอกับทนดี แก้ลมพรรดึก แก้ดานเสมหะ ชำระเสมหะแห้งแล



สลัดไดแลส้มเช้ามีรสอันร้อนแลเปรี้ยว แก้ฟกบวม แก้จุกเสียด แก้แม่พยาธิ์อันกระทำให้ลงท้อง เจริญไฟธาตุย่อยอาหารให้พลันแหลกแล



ยางสลัดไดนั้นแรงกว่าต้นแลใบ คุณยางเทพทาโรแลยางตาตุ่ม ยางรักขาว แลเข้าค่า ทั้ง ๕ อย่างนี้ มีคุณเสมอกันมีรสอันร้อน แก้ตัวพยาธิ์ แก้ฟกบวมแลคชราช ผายธาตุแล



สหัศคุณแลพาดไฉนแลโลดทะนงแลเมล็ดสลอด ทั้งสี่อย่างนี้มีคุณดุจกัน มีรสเผ็ดร้อน แก้หืดไอแก้พยาธิ์เสมหะแลลมทั้งปวง ผายธาตุแล



เปล้าใหญ่แลเปล้าน้อย มีรสอันร้อนมีกลิ่นอันหอมเผ็ดร้อน รู้กระจายสรรพลมทั้งปวงแล



รากกระวานใบกระวานผลกระวานนั้นชอบรำมะนาด แก้ลมแลเสมหะให้ปิดธาตุแล



ผลมะตูมแก่แต่ยังไม่สุก ให้ปิดธาตุบำบัดเสลดแลลมเจริญไฟธาตุ ผลมะตูมอ่อนเกือบจะแก่ แก้เสมหะ

แก้ลมทั้งปวง ผลมะตูมอ่อนยังเล็กนั้นบำบัดตรีโทษ แก้ลม ผลมะตูมสุกนั้นแก้เสมหะ แก้จุกเสียดเจริญไฟธาตุ มีรสอันหวานยิ่งให้มีกำลัง ผลมะตูมสุกแช่น้ำส้มพอูมเจริญไฟธาตุ มีรสอันหวานยิ่งมีกำลังแก้ลมทั้งปวงแล



เปลือกราชพฤกษ์มีรสขมฝาดเฝื่อน แก้พยาธิ์ แก้ไข้ แก้ฝีคชราช แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง แก้ปวดมวนดังบิด ฝักนั้นมีรสหวานแลเย็น แก้ระหายน้ำให้มีกำลัง แก้เสมหะในอก แก้จุกเสียด แก้กำเดาให้กายซูบผอมให้สมบูรณ์แล



เปลือกโมกมันมีรสฝาดแลขม แก้โลหิตแลเสมหะ แก้ฝีอันเปื่อยพัง แก้ลงท้องแลจุกเสียด แก้กำเดาแล ผลมูกมันนั้น แก้หืด แก้ตกมูกแลลงท้อง แก้ลมสำประชวรแล



เปลือกคางแก้พิษฝี แก้พิษงู แก้ตัวพยาธิ์ แก้คชราช โลหิตตก แก้เปื่อยพัง แก้บวม ผลคางนั้นแก้โรคในจักษุ เปลือกสะท้อนนั้นมีคุณดุจเปลือกคางแล



เปลือกทอง, เปลือกปรู, ให้ปิดธาตุแก้ลงท้อง แก้หืดไอ ผลทอง, ผลปรู กินมีรสอันเผ็ดร้อนสักหน่อย เจริญไฟธาตุ แก้ตัวพยาธิ์ แก้จุกเสียด แก้ลงท้อง แก้สะพั้น



ราชพฤกษ์, ไชยพฤกษ์, โมกมัน, แลคาง, เปลือกสะเดา, เปลือกพุทรา, ไทร, สนุ่น, สะท้อน งิ้ว, กล้วย, ไม้พิกุล, แคฝอย, ใบมะตูม, ใบมะขวิด, แคทั้ง ๒ มูลอ้าย, (ต้นขี้อ้าย) หางกราย, ตะโก, พนม, พลับ, มะเดื่อ, มะม่วง, แลต้นไม้ทั้งปวงนี้เปลือกก็ดีรากก็ดีดอกก็ดี ผลก็ดีมีรสอันหวานฝาดเฝื่อน แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ์ แก้ตกโลหิต



ใบแคทั้ง๒ ใบสมี, ใบชุมเห็ด, ใบมะรุม, ใบพริกไทย, ใบมะระ, ใบมะไฟ, ใบไม้ทั้ง ๘ สิ่งนี้แก้นอนมิหลับให้ระส่ำระสาย ให้เอาใบไม้นี้แกงกินกับข้าวเจริญโลหิตนอนหลับแล ใบไม้อันกล่าวมาแต่ก่อนนั้นใบอ่อนกินเกิดโทษ



อนึ่งเปลือกใบไม้ใดๆ ก็ดี มีรสอันเปรี้ยว ให้ผายธาตุมีรสฝาดให้ปิดธาตุ มีรสหวานแก้ระหายให้มีกำลังเจริญกายแลโลหิตใช้ได้ แก้ปัจจุบันครั้งหนึ่งคราวเดียว ถ้าใช้เปนนิจเกิดโทษมากแล ผลตาลสุกมีคุณดุจกัน



เยื่อมะพร้าว น้ำมะพร้าว มีรสหวานกระทำให้ชุ่มอก เจริญไฟธาตุให้มีกำลัง แก้กำเดา แต่ถ้าใช้เปนนิจให้เกิดโทษมาก แลรากมะพร้าว ดอกมะพร้าว งวงตาลอันอ่อน มีรสหวานแก้ลงท้อง แก้โลหิต แก้ไข้ริดสีดวงปากเปื่อย ตรีกฏุกเสมอภาค ทำผงละลาย แก้ตรีโทษ ละลายน้ำนมกระบือ แก้กำเดา แก้ดี แก้โลหิตละลายน้ำนมแพะ แก้เสมหะแล



มูตร์มีรสอันเผ็ดร้อนแลเค็มแก้ลมแก้โลหิต แลเสมหะเจริญไฟธาตุแก้จุกเสียดแก้ฟกบวม แก้หืดไอแก้ผอมเหลือง



ผลไม้ทั้งหลายอันฝาด คือยางตะเคียนประดุจชันแลสีเสียด เทศสีเสียดไทยมีรสฝาดกินแก้ลงให้ปิดธาตุแล

ดอกบัว รากบัว มีรสอันร้อนแลฝาด แก้ลงท้อง แก้คลื่นเหียนแก้ไข้แล



ต้นมะลิ แก้ฝีคชราชแก้เสมหะแก้โลหิต ดอกมะลินั้นเย็นแก้ร้อนในอก กระทำให้ใจชุ่มชื่น แก้โรคในจักษุแก้ไข้ตัวร้อนทุกประการ



กรุงเขมา แลชะมดเชียง แก้ลมแลโลหิต แก้กำเดา แก้จักษุโรค



ชะมดสดแลโคโรคมีคุณอันยิ่ง แก้จักษุโรคแก้เสมหะแห้ง เสมหะหางวัว แก้รำเพรำพัด เพื่อภูตปิศาจ เจริญบุพโพให้บริบูรณ์แล



จันทน์แดง, จันทน์ขาว มีรสอันขมหวานเย็น มีคุณอันยิ่งแก้เหงื่อแก้มลทินแก้ตัวพยาธิ์ แก้ไข้ร้อนด้วยพิษ เจริญไฟธาตุให้สมบูรณ์



แก่นระกำป่า แก่นฝาง มีรสอันขมหวาน แก้ฝีคชราช แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้กำเดา แก้ไข้สำประชวร

แก่นประดู่, แก่นมะซาง, แลแก่นตะเคียน มีคุณเสมอกัน



กระลำพักนั้นมีรสขมหวานเย็นมัน แก้ลมอังคมังคานุสารี แก้ตรีสมุฏฐาน แก้โลหิตโทษ



ขอนดอกนั้นมีรสเผ็ดจืด แก้เสมหะแก้เหงื่อแลไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ



ขี้เหล็กทั้ง ๒ นั้นมีรสอันขมหวาน แก้โลหิต, กำเดาเสมหะ, เจริญไฟธาตุ



นมพิจิตร, โคกกระออม, โคกกระสุน, มีคุณเสมอกัน แก้ไข้เพื่อทุราวสา แก้ปัสสาวะให้บริบูรณ์



สะไอ มีรสอันขมฝาดเฝื่อนเย็น แก้บิดแลพยาธิ์



สะเดามีรสอันขมหวาน แก้กำเดา แก้ราก แก้สะอึก แก้พิษฝี แก้ไข้เพื่อดีพิการ



รากเสนียด ใบแลดอกมีรสอันขม แก้หืดไอแก้ไข้สำประชวร แก้โลหิต แก้บิด แก้พิษฝี แก้รัตตะ ปิตตะ



บอระเพ็ดทั้ง ๒ มีรสอันขมเย็น แก้เสมหะแลเลือดลม แก้ลงท้อง แก้ไข้ทั้งปวง เจริญไฟธาตุ



หญ้าขัดมอน ๓ ประการ แต่ต้นต้มกินมีกำลัง ราก, แก้อาเจียรคลื่นเหียน



ถั่วแปบ แก้ไข้สัมประชวรแลแก้จักษุโรค แก้เสมหะแก้ลมมีพิษ ให้ผายธาตุ



ยาเข้าห้อม มีรสอันขม แก้ลงท้องแก้โลหิตแก้สะอึก แก้ไข้กำเดา



อังกาบเหลืองแลขาวทั้ง ๒ มีรสหวาน แก้เสมหะ แก้ลมเจริญไฟธาตุ



ชะเอมป่า มีรสอันหวาน แก้ระหายน้ำ ชะเอมเทศ มีรสอันขมแลหวานยิ่ง แก้ระหายน้ำ แก้คอแห้ง แก้ไข้ทั้งปวง แก้จักษุโรค



ผักหวานตัวผู้มีรสหวาน แก้กำเดา แก้จักษุโรค



รากสามสิบทั้ง ๒ มีคุณยิ่งกว่าผักหวาน



สุพรรณทลิกา มีรสหวานกินแก้ผอมแห้ง ให้กายสมบูรณ์ให้รู้จักรสอาหาร แลแก้ลมเลือดพิการให้ปิดธาตุ

ผักคราดแลขอบชะนางทั้ง ๒ มีรสเผ็ดร้อน แก้ผอมเหลือง แก้ริดสีดวง ให้เจริญปัญญา



ผักโหมเทศทั้ง ๒ มีรสหวาน แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ฟกบวมในท้อง แลดอกนั้น แก้เสมหะ แก้พิษ

ข่ามีรสเผ็ดร้อน แก้พิษฝี แก้ฟกบวม กินแก้คุณวิทยาคม อันบุคคลกระทำ



กะทือป่ามีคุณดุจข่า เจริญไฟธาตุ แก้จุกเสียด



ไม้เท้ายายม่อมแลรากมะกล่ำตาช้างแดงตาขาว แก้ร้อน แก้กระหายน้ำ แก้อาเจียร แก้หืดไอ แก้พิษฝี

ใบแลผลมะกล่ำแดงนั้น แก้ริดสีดวงในทวารหนัก



ทองกวาวต้น ทองกวาวเครือทั้ง ๒ มีรสฝาดแลหวาน แก้ลมอัมพาต แก้โลหิต



บวบขมแลฟักขม แก้เสมหะ แก้ลม แก้พิษฝี แก้ริดสีดวงงอก แก้หืด



ชะบาทั้ง ๒ แก้พิษฝี แก้ฟกบวม กระทำให้รู้จักรสอาหาร



เปราะหอมทั้ง ๒ มีรสเผ็ดร้อน แก้พิษฝีพิษงู แก้พิษลมจุกเสียด



ผลกระวาน ดอกกระวานเทศ มีรสร้อนแลเผ็ดมีกลิ่นหอม แก้เสมหะแก้ลมในอกให้ปิดธาตุ



การบูรมีรสเผ็ดร้อน ให้ย่อยอาหารพลันแหลก แก้จักษุโรค แก้ริดสีดวง กระทำให้รู้จักรสอาหาร แก้ลมจุกเสียดแก้หืดไอ



กานพลูมีรสเผ็ดร้อนหวาน แก้มวกในลำไส้ แก้เสมหะ แก้ลมจุกเสียด เจริญไฟธาตุ



เชือกเขาไฟ กินแก้ร้อนแลผายธาตุ แก้ระส่ำระสาย แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้ลม



เพชรสังฆาต แก้จุกเสียด แก้บิด แก้ปวดในข้อในกระดูก ชอบแก้ลมทั้งปวงแล



อบเชย แก้พิษร้อน แก้ลมอัมพาต แก้ไข้จับ



เขม่าเหล็กมีรสเผ็ดเย็น แก้ฝีคชราช



เกลือสินเธาว์ มีรสเค็ม แก้กำเดาแลลมจุกเสียด แก้พรรดึกแลไข้ตรีโทษ



เกลือประสะมีรสหวาน ย่อยอาหารให้พลันแหลกแก้ร้อนผายธาตุ แก้พิษ แก้กำเดา แก้ลมจุกเสียด



เกลือสมุท ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ เกลือด่าง ๑ เกลือหุง ๑ เกลือทั้งหลายเหล่านี้มีคุณเสมอกัน รู้ชำระโทษ น้ำเหลืองให้บริบูรณ์



กระสารส้ม ๑ ด่างสลัดได ๑ ด่าง โคกกระสุน ๑ ด่างมะกล่ำตาช้าง ๑ ด่างประยงค์ ๑ มีคุณเสมอกัน แก้ฟกบวมทั้งปวง แก้ลมจุกเสียด แก้ผอมเหลือง แก้ริดสีดวงในท้อง แก้ลมอัมพาต แก้หืดไอ เจริญไฟธาตุ แก้พรรดึก



ด่างต้นงา ๑ ด่างหญ้าพันงู ๑ ด่างผักโหมหิน ๑ ด่างผลส้มป่อย ๑ ทั้งนี้มีคุณเสมอกัน แก้ดานเสมหะ



น้ำอ้อยสดมีรสหวานแลเย็น กินปัสสาวะออกมาก เจริญอายุให้มีกำลัง แก้กำเดาแลลม กระจายเสมหะผายธาตุ



น้ำอ้อยต้มแลอ้อยเผา มีรสหวานยิ่งกินแก้เสมหะหืดไอ แก้ไข้สำประชวร



หญ้าแพรกแก้ลมแลโลหิต บดเปนยารมแก้ตัวพยาธิ์ซึ่ง กระทำให้คันตัวทั่วสรรพางค์



หญ้าหนวดปลาดุก มีรสขม แก้ผอมเหลือง แก้โลหิต แก้ไข้ทั้งปวง แก้หืดไอ ให้รู้จักรสอาหาร



ขมิ้นชันขมิ้นอ้อยมีรสเผ็ดร้อน แก้พิษโลหิตแลลม แก้บวม แก้เสมหะ แก้ไข้ทั้งปวง แก้ตัวพยาธิ์กระทำให้คันทั่วสรรพางค์ แก้ฝี



ขมิ้นเครือเสมอกันกับขมิ้นอ้อย แก้เสมหะแลลม แก้ระหายน้ำ



เปราะทั้ง ๒ มีรสอันเผ็ดแลขม แก้เสมหะเจริญไฟธาตุ แก้ลงท้อง



หญ้าพันงูทั้ง ๒ แลมะไฟเดือนห้า, ผักเสี้ยนผีทั้ง ๒, รากหญ้าปากควาย สรรพยาทั้งนี้ มีรสเผ็ดร้อนเสมอกัน เจริญไฟธาตุ แก้พิษฝี แก้ไข้ตรีโทษ



ชิงชี่ทั้ง ๒ แก้ท้องมาน ให้ผายธาตุ แก้ฟกบวม แก้ลม



รากไคร้เครือแลมูลกาทั้ง ๒ มีรสเผ็ดขมเสมอกันแก้กำเดาแก้ไข้เพื่อลม



ลำพันทั้ง ๒ มีรสอันเผ็ดร้อนเสมอกัน แก้ไข้เพื่อภูตปิศาจ แก้ลมจุกเสียด แก้พิษฝี แก้ไข้กำเดา



พิลังกาสา มีรสเผ็ดร้อนขมฝาด แก้ไข้กำเดา



พรมมิมีรสหวาน แก้ไข้สวิงสวาย แก้หืดไอ กินแก้ริดสีดวง กินเจริญปัญญาด้วย



เปล้าทั้งสอง แลใบกระวาน, น้ำประสารทอง ผายธาตุ แก้ลมจุกเสียดเจริญไฟธาตุ มีกำลัง แก้ระหาย แก้เสมหะ แก้ลม



น้าอ้อยน้ำตาล กินผายธาตุ



น้ำผึ้งเก่ามีรสหวานร้อนฝาด กินผายธาตุให้ตัวผอมแห้ง



น้ำผึ้งใหม่รสยิ่งกว่าน้ำผึ้งเก่ากินมิได้ลงท้อง แก้ไข้ตรีโทษ



ขัณฑสกรทำด้วยน้ำอ้อยมีรสหวานเย็น กินเจริญเสมหะดี แก้อาเจียร แก้ระหายน้ำ



น้ำนมโครสเย็น กินปิดธาตุ ชอบแก้โรคในอก ให้มีกำลังเจริญไฟธาตุ



น้ำนมกระบือมีรสหวาน กินแก้พรรดึก ให้เจริญรสอาหาร



น้ำนมแพะมีรสหวานฝาดเย็น กินแก้ลงท้อง แก้โลหิต แก้ไอ แก้หืด



น้ำนมแกะแก้หืดไอแลจุกเสียด เจริญไฟธาตุ



น้ำนมอูฐมีรสเปรี้ยวหวานแลจืดเค็ม กินกระทำให้จุกเสียด ชอบแต่แก้บวมในท้อง แก้พยาธิ์ท้องมาน



น้ำนมม้ามีรสฝาดหวานเค็มเปรี้ยว กินเจริญธาตุมากนัก แต่มักจุกเสียด



น้ำนมช้างมีรสฝาดเย็นดี กินมีกำลังชอบริดสีดวง



น้ำนมทั้งปวงมีรสหวานยิ่งกินมีกำลัง แก้นอนมิหลับ แก้ลม เจริญไฟธาตุ



น้ำนมคน แก้ลมพรรดึก



น้ำนมเปรี้ยวคือทธิ เกิดแต่นมวัว มีรสหวานมันกินเจริญไฟธาตุ แก้ลมอันเย็น แก้ปัสสาวะพิการ



น้ำนมเปรี้ยวเกิดด้วยนมกระบือมีรสหวานมัน กินให้มีกำลัง



น้ำนมปนด้วยเนย กินปิดธาตุ แต่ว่าเกิดลม เจริญไฟธาตุ



รสสรรพยา อันใดมีรสเผ็ดร้อนนั้นชอบแต่แก้ลม มิชอบกำเดา ถ้ารสเผ็ดเปรี้ยวชอบแก้ลมจุกเสียดแต่ชอบพรรดึก ถ้ารสฝาดเฝื่อนชอบแต่ปิดธาตุ แก้ตัวพยาธิ์แลฟกบวม ถ้ารสหวานเย็นชอบแต่แก้ระหาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น