บล็อกเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคและใช้ทางการเกษตรครับ

สุนันทโจ

20.7.53

จารึกตำรายาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

จารึกตำรายาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) แบ่งเป็น ๔ ประเภท (หรือวิชา) ดังนี้


๑. วิชากายภาพบำบัด (ฤาษีดัดตน) ทำเป็นรูปฤาษี หล่อด้วยดีบุกผสมสังกะสี จำนวน ๘๐ ท่า มีโคลงสี่สุภาพอธิบายประกอบทุกท่า



๒. วิชาเวชศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาโรคภัยไข้เจ็บตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มีการแยกสมุฏฐานของโรค การวินิจฉัยโรค การใช้ยาบำบัดรักษาโรค รวมจำนวนยา ๑,๑๒๘ ขนาน



๓. วิชาแผนนวด หรือวิชาหัตถศาสตร์ มีภาพโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ แสดงที่ตั้งของเส้นประสาทการนวด ๑๔ ภาพ และภาพเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอกแก้เมื่อยและโรคต่างๆ อีก ๖๐ ภาพ



๔. วิชาเภสัช ว่าด้วยสรรพคุณของเครื่องสมุนไพร ที่เรียกว่า ตำราสรรพคุณยาปรากฏสรรพคุณในการบำบัดรักษา จำนวน ๑๑๓ ชนิด



ในขณะที่จารึกตำรายาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีการระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของตำรายาหรือวิชานั้นๆ ทุกขนาน แต่ในวิชาเภสัชหรือตำราสรรพคุณยากลับไม่มีชื่อเจ้าของตำรายา เมื่อนำพระคัมภีร์สรรพคุณยา  ในหนังสือ "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" มาเปรียบเทียบกับตำราสรรพคุณยา ฉบับของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท (อธิบดีแพทย์กำกับกรมหมอหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็จะเห็นได้ว่ามีเนื้อหาใกล้เคียงกันมาก เพียงแต่ฉบับของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีรายละเอียดมากกว่าเท่านั้น



แม้ว่าพระคัมภีร์สรรพคุณ  ในหนังสือ "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" นั้น น่าจะเป็นคนละสำนวนกันกับตำราสรรพคุณยาฉบับวัดพระเชตุพนฯ และฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท เพราะมีรายละเอียดต่างกัน แต่ก็มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมาก เห็นได้ว่ามีพื้นฐานมาจากต้นฉบับเดียวกัน โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมในชั้นหลัง



พระคัมภีร์สรรพคุณ  เป็นคัมภีร์สำคัญซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารตำรายาหลายฉบับ เช่น ในการชำระตำรายาในปี พ.ศ.๒๔๑๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระคัมภีร์สรรพคุณ ก็ได้รับการพิมพ์รวมอยู่ใน "เวชศาสตร์ฉบับหลวง" และใน พ.ศ.๒๔๓๒ เมื่อมีการจัดพิมพ์คัมภีร์ "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" ก็ปรากฏว่าพระคัมภีร์สรรพคุณ  ได้รวมอยู่ในตำรายาเล่มนี้ด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น